สศก. เผย ปี 62 กระทรวงเกษตรฯ เสนอของบประมาณแล้ว รวมกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อเดินหน้าแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิต พร้อมรุก 16 นโยบายสำคัญ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็งและยั่งยืน
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอขอตั้งงบประมาณ รวมจำนวนกว่า 213,386 ล้านบาท โดยจำแนกงบประมาณเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 26,969 ล้านบาท 2. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (Function) ซึ่งประกอบด้วยแผนงานพื้นฐานหรือแผนงานยุทธศาสตร์ต่างๆ จำนวน 37,581 ล้านบาท 3. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 117,873 ล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวข้อง 11 แผนบูรณาการ ซึ่งมีงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่แผนงานการบริหารจัดการน้ำ แผนงานพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร และแผนงานการวิจัยและนวัตกรรม และ 4) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) เพื่อพัฒนาพื้นที่ระดับภาค จำนวน 30,961 ล้านบาท
สำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร ปี 2562 ซึ่งอยู่ในกลุ่มงบประมาณ Agenda ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. เป็นเจ้าภาพ ได้เสนอของบประมาณ รวมทั้งสิ้น 20,365 ล้านบาท มีหน่วยงานร่วมบูรณาการ 7 กระทรวง 60 หน่วยงาน 4 รัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และรัฐวิสาหกิจ มีเป้าหมายหลัก 2 เป้าหมาย คือ
เป้าหมายที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เน้น 5 สินค้า (ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา) + 4 plus (สับปะรด มะพร้าว ปศุสัตว์ ประมง) โดยพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาด พัฒนาศักยภาพกระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตร และพัฒนาศักยภาพกระบวนการตลาดสินค้าเกษตร เป้าหมายที่ 2 เกษตรกรได้รับการพัฒนาศักยภาพให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็ง
ทั้งนี้ คำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ในจำนวนกว่า 213,386 ล้านบาท เป็นงบประมาณตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 16 นโยบาย จำนวน 143,109 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนใหญ่จะอยู่ที่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (GAP) ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) และเกษตรอินทรีย์
เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า การเสนอของบประมาณปี 2562 ได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อเดินหน้าการผลิตภาคการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอคำของบประมาณไปยังสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป
อย่างไรก็ตาม ขณะที่งบประมาณกลางปี 2561 ที่กระทรวงเกษตรฯ ยื่นขอไป นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงบประมาณพิจารณางบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 หรืองบกลางปี 2561 วงเงิน 30,000 ล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยกระทรวงเกษตรฯถูกหั่นงบประมาณปฏิรูปภาคเกษตรที่เสนอไปทั้งหมด 7 โครงการ วงเงิน 47,000 ล้านบาท เหลือเพียง 24,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการปฏิรูปภาคเกษตรและได้วงเงินสำหรับดำเนินโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ที่กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการร่วมกับมหาดไทยอีกประมาณ 693 ล้านบาท โดยเตรียมนำโครงการเสนอ ครม.อีกครั้งก่อนเบิกงบประมาณดำเนินการได้ประมาณ เม.ย.2561
ด้านนายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้ แต่ขนาดจะลดลง เช่น งบประมาณโค่นยางเพื่อเปลี่ยนเพื่อเปลี่ยนชาวสวนไปประกอบอาชีพอื่น เดิมกำหนดเป้าหมายพื้นที่โค่นยาง 300,000 ไร่ จ่ายรายละ 10,000 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 10 ไร่ หรือ 100,000 บาทต่อราย เดิมจะใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่เมื่อสำนักงบตัดงบประมาณลง 50% จึงเหลือพื้นที่โค่นยางเพียง 150,000 ไร่ แต่ยังจ่าย 10,000 บาทต่อไร่เช่นเดิม สำหรับชาวสวนที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับเงิน 2 งวด คือ งวดแรก 4,000 บาทต่อไร่ หรือ 40,000 บาทต่อราย หากทำแผนอาชีพเสร็จ งวดที่ 2 จ่ายอีก 6,000 บาทต่อไร่หรือ 60,000 บาทต่อราย เมื่อเข้ารับการอบรมอาชีพแล้ว ส่วนอีกโครงการที่สำนักงบประมาณให้โครงการผ่านการพิจารณาคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชน ที่ของบประมาณไว้ 19,134 ล้านบาท แต่สำนักงบประมาณอนุมัติงบประมาณให้ 8,760 ล้านบาท
ส่วนเรื่องโครงการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรทั้งระบบ ที่กระทรวงเกษตรฯขอเสนองบประมาณไปวงเงิน 47,000 ล้านบาท ก่อนที่จะถูกตัดงบประมาณเหลือเพียง 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 7 โครงการใหญ่ ได้แก่ 1.การปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อลดความเสี่ยง งบประมาณ 3,288 ล้านบาท 2.พัฒนาการผลิตพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ งบประมาณ 3,486 ล้านบาท 3.บริหารจัดการสินค้าเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่ม งบประมาณ 6,032 ล้านบาท 4.แก้ไขปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิต งบประมาณ 15,081 ล้านบาท 5.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชน งบประมาณ 19,134 ล้านบาท 6.บริหารจัดการข้อมูล (บิ๊ก ดาต้า)งบประมาณ 769.33 ล้านบาท และ 7.ติดตามและประเมินผล งบประมาณ 8 ล้านบาท