วันนี้ (9 ตุลาคม 2567) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงทางวิถีชีวิตแบบสังคมเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว และทวีความรุนแรงขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ทำให้วิถีชีวิตและสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจของประชาชน โดยเฉพาะการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (non-communicable Diseases) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยที่สำคัญ กรมอนามัยถือเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขด้านการส่งเสริมสุขภาพ ให้ประชาชนมีความรอบรู้สุขภาพ ดูแลตนเองได้ อยู่ในสังคม อยู่ในเมืองสุขภาพดี Healthy Cities ดังนี้ 1) สร้างชุมชนให้เป็นสังคมรอบรู้สุขภาพ 2) ขับเคลื่อนสถานีสุขภาพ Health station ในวัด ในโรงเรียน ในสถานประกอบกิจการ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนได้ติดตาม และดูแลสุขภาพตนเอง เช่นรู้ค่าความดันโลหิต รู้ระดับน้ำตาล 3) ขับเคลื่อนเวชศาสตร์วิถีชีวิต การปรับเปลี่ยน เพิ่มพฤติกรรด้านป้องกันสุขภาพ ลดพฤติกรรมก่อโรค NCDs ร่วมกับแนวทางการดูแลสุขภาพตลอดช่วงชีวิต (Life Course Approach) 4) “ขยับเป็นนิจ” ด้วย Campaign ขับเคลื่อนพลังประชาชน ลดการเนือยนิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยง NCDs ปลุกกระแสการออกกำลังอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ กรมอนามัยมี Campaign Long Life Thai Fit เชิญชวนให้ประชาชน ภาคีเครือข่ายสุขภาพ นำเพลงและ ท่าเต้นการออกกำลังกายไปใช้ในการกระตุ้นในมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น ทั้งในโรงเรียน ในสถานประกอบการ และหน่วยงานต่างๆ และยังมีโครงการก้าวท้าใจที่ยังดำเนินการต่อเนื่องตลอดปี และ 5) “กินดี กินเป็นยา” ในการรณรงค์ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมบริโภคอาหารที่ดี ได้แก่ ร้านเมนู ชูสุขภาพ ร้านหวานน้อยสั่งได้ ตลาดนัดสุขภาพ พร้อมทั้งบูรณาการรวมพลังขับเคลื่อนกับเครือข่าย ทั้งระดับนโยบายระหว่างกระทรวง ระหว่างภาคเอกชน ภาคประชาสังคม การมีส่วนร่วมระดับชุมชน ประชาชน
“งานวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2567 จัดขึ้นเพื่อเน้นย้ำและสร้างความตระหนักสร้างประชาชนรอบรู้ด้านสุขภาพ และมีวิถีชีวิตตามเส้นทางการมีสุขภาวะที่ดี ทั้งด้านการกินดี นอนดี กิจกรรมทางกายดี จัดการความเครียดได้อย่างสมดุล ซี่งต้องดูแลสุขภาพตั้งแต่เกิดจนถึงสูงอายุเพื่อป้องกันโรค NCDs และมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ถือเป็นเวทีแสดงถึงความร่วมมือทางวิชาการ และประกาศความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้รับความสนใจจากบุคลากรจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคีเครือข่ายภายในประเทศและต่างประเทศ สถาบันการศึกษา บุคลากร จากภาครัฐ เอกชน และประชาชน เข้าร่วมงานครั้งนี้ทั้งรูปแบบ onsite และ online มากกว่า 1,500 คน
และพร้อมทั้งมอบโล่เชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรขอบคุณภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อคนไทยสุขภาพดี จำนวนกว่า 300 รางวัล ได้แก่ โล่เชิดชูเกียรติด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ โล่เชิดชูเกียรติบุคคลดีเด่นด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2567 โล่เชิดชูเกียรติผู้สนับสนุนจัดงานวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 โล่เชิดชูเกียรติโรงเรียนต้นแบบด้านโภชนาการ ประจำปี 2567 โล่เชิดชูเกียรติโครงงานสุขภาพนักเรียน ประจำปี 2567 โล่เชิดชูเกียรติโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ (กพด.) ต้นแบบด้านการจัดการน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค ระดับเพชร โล่เชิดชูเกียรติและเกียรติบัตรชมรมต้นแบบด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับผู้สูงอายุ โล่เชิดชูเกียรติโรงเรียนต้นแบบส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และหน่วยงานดีเด่นในด้านการขับเคลื่อนงานก้าวท้าใจในสถานศึกษา โล่เชิดชูเกียรติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โล่เชิดชูเกียรติพื้นที่ต้นแบบดีเด่นด้านครอบครัวชุมชนรอบรู้สุขภาพภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ พ.ศ.2567 โล่เชิดชูเกียรติโรงพยาบาลผ่านมาตรฐานงานอนามัยแม่และเด็ก ระดับดีเยี่ยม ปีงบประมาณ 2567 โล่ชนะเลิศและ เกียรติบัตรดีเด่นจากการประกวดผลงานวิชาการกรมอนามัย ปี 2567” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว