คณะนิเทศศาสตร์ DPU ปลุกค่ายกิจกรรม “ผลิตสื่อเพื่อชุมชน” ฝึกทักษะนักศึกษาหลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ ลงพื้นที่ปฏิบัติจริง จ.เพชรบุรี ผลิตสื่อคลิปและภาพนิ่ง ส่งมอบให้ชุมชนใช้ประโยชน์
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดค่ายกิจกรรม “ผลิตสื่อเพื่อชุมชน” โดยนำนักศึกษาปีที่ 3 และ ปีที่ 4 หลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ (DCM) ลงพื้นที่ชุมชน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2567 เพื่อให้นักศึกษาได้นำทักษะความรู้จากเรียนลงพื้นที่ปฏิบัติจริงอย่างมืออาชีพ ในการผลิตสื่อทั้งในรูปแบบคลิปวิดิโอ และภาพนิ่ง เพื่อส่งมอบให้กับชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยมี อาจารย์สุดถนอม รอดสว่าง หัวหน้าหลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ (DCM) เป็นหัวหน้าโครงการ
อาจารย์สุดถนอม รอดสว่าง หัวหน้าหลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่ทำกิจกรรมได้ แต่ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ทางอาจารย์จึงรื้อฟื้นกิจกรรมภาคสนามขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติงานจริง โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้แบ่งนักศึกษาเป็น 3 กลุ่ม เพื่อลงพื้นที่ตามชุมชนที่กำหนด
“บ้านร่องใหญ่ ต.บางแก้ว เป็นเส้นทางสายเกลือ แหล่งผลิตเกลือสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นักศึกษาจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาเกลือ โดยกลุ่มแรกจะถ่ายทำการนำเกลือมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เกลือสปา เกลือขัดผิว สบู่เกลือ เกลือปรับอากาศ ที่สปาเกลือกังหันทอง กลุ่มที่สองลงพื้นที่ถ่ายทำฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่น ที่ใช้พื้นที่นาเกลือเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นขายในช่องทางออนไลน์จนมีรายได้ ส่วนกลุ่มสุดท้ายจะไปลงพื้นที่วิสาหกิจแพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย ที่กำลังผลักดันให้เป็นชุมชนนําเที่ยววิถีชีวิตประมงชายฝั่ง และชมทะเลแหวกแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของอำเภอบ้านแหลม” หัวหน้าหลักสูตร DCM กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการเตรียมพร้อมนักศึกษาในการลงพื้นที่ โดย “คุณสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อํานวยการสํานักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส” ได้มาแนะนำทักษะการลงพื้นที่ การพูดคุยกับคนในชุมชน และการคิดประเด็นเพื่อถ่ายทําคลิป รวมทั้งบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการทำ Location based storytelling เทคนิคการเล่าเรื่องจากพิกัดสถานที่ ตลอดจนการทำกิจกรรมเวิร์คชอปให้กับนักศึกษา ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้จะมีการให้นักศึกษาปักหมุดในชุมชนด้วยว่าแต่ละแห่งมีความโดดเด่นเรื่องอะไร โดยเขียนเป็นบทความหรือบล็อก พร้อมคลิป ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักมากยิ่ง
ทั้งนี้ Location based storytelling ไม่ได้สอนแค่ปักหมุด อาจารย์สุดถนอม อธิบายเพิ่มเติมว่า นักศึกษาจะได้เรียนรู้ว่าเมื่อลงพื้นที่แล้วจะเล่าเรื่องในพื้นที่นั้นให้น่าสนใจ จะต้องมีวิธีการดึงเนื้อหาหรือประเด็นมาใช้เล่าเรื่องได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นทักษะที่สําคัญ นักศึกษาสามารถที่จะได้ฝึกและนำประเด็นที่ตัวเองสังเกตเห็นมาใช้ถ่ายทอดเรื่องราว วิถีชีวิตชุมชนในมุมเด็กรุ่นใหม่ ผ่านคลิปวิดีโอ รูปแบบสารคดี หรือ Vlog และภาพนิ่ง ซึ่งนักศึกษาจะต้องลงพื้นที่พูดคุยกับผู้นำชุมชนแต่ละชุมชนด้วยตัวเอง
“เด็กเมืองยุคนี้ห่างไกลจากชุมชน การลงพื้นที่เป็นการสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ไม่คุ้นเคย นอกจากนี้นักศึกษายังได้ฝึกพัฒนาทักษะในการผลิตสื่อด้วยตัวเอง โดยการนำทฤษฎีที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในการลงพื้นที่ปฏิบัติจริง ซึ่งจะเป็นการฝึกฝนทักษะตัวเอง ควบคู่กับการได้ทําประโยชน์ให้กับชุมชนด้วย โดยการเอาสื่อที่ตัวเองผลิตส่งมอบให้กับชุมชนใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของชุมชนเป็นสร้างจิตอาสาให้กับเด็กไปในตัว” หัวหน้าหลักสูตร DCM ทิ้งท้าย