วันที่ 22 ต.ค.67 นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พร้อมด้วย พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท., น.ส.อาภรณีย์ เสมรสุต ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 1 และ น.ส.อรณิช สุขบาล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 2 ร่วมกับ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป., พ.ต.อ.สิทธิพร กสิ ผกก.2 บก.ปปป. และ นายวณิชย์ ศุภวณิชย์สกุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 2 เข้าจับกุมหัวหน้างานรังวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 จำนวน 4 ข้อหา ได้แก่ เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯ โดยจับกุมได้ที่สำนักงานที่ดิน จ.ชลบุรี สืบเนื่องจาก ผู้เสียหายซึ่งประกอบธุรกิจทำโครงการบ้านจัดสรรในพื้นที่ อ.เมืองชลบุรี ได้แจ้งเบาะแสต่อสำนักงาน ป.ป.ท. ว่า ผู้ต้องหาซึ่งเป็นช่างรังวัดที่ดิน สำนักงานที่ดิน จ.ชลบุรี มีพฤติการณ์เรียกรับเงินจากผู้เสียหายแลกกับการรังวัดแบ่งแยกแปลงที่ดินและดำเนินการออกโฉนดที่ดิน จำนวน 25 แปลง ราคาแปลงละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 50,000 บาท
สำนักงาน ป.ป.ท. จึงได้ประสานงานกับ บก.ปปป. และสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อร่วมกันสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพบข้อเท็จจริงจนนำไปสู่การขออนุมัติศาลออกหมายจับ และได้ร่วมปฏิบัติการจับกุมผู้ต้องหารายดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่จะไดนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และเนื่องจากผู้ต้องหาอ้างว่าเป็นราคามาตรฐานที่ทุกแปลงทุกโครงการบ้านจัดสรรต้องจ่ายค่าแบ่งแยกแปลงที่ดินราคาแปลงละ 2,000 บาท ซึ่งหากพบพยานหลักฐานหรือเงินที่ได้รับจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ก็จะขยายผลการดำเนินคดีต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจโครงการบ้านจัดสรรรายอื่นๆ อีกว่า ในวงการธุรกิจก็มักจะเป็นที่รู้กันว่าจะต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติอนุญาตงานต่างๆ ทำให้ราคาขายของบ้านหนึ่งหลังจะมีค่าใช้จ่ายใต้โต๊ะประมาณ 100,000 – 200,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวถูกผลักภาระไปให้ประชาชนที่ซื้อบ้านต้องจ่ายหรือผ่อนต่อ ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ท. จะเตรียมพิจารณาหาแนวทางมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงรุกในลักษณะดังกล่าวต่อไป