ตั้ง 15 มิสเตอร์สินค้า กำหนดทีมบริหารงานเชิงรุก ทำข้อมูลเป็นบิ๊กดาต้า ลั่นยางพาราน่าห่วงสุด ขณะที่ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำลังจะเป็นปัญหา ใน 3-5 เดือนข้างหน้า เล็งเตรียมมาตรการรับมือ
นายลักษณ์ วัจนานวัช รัฐมนตรีช่าวว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมความก้าวหน้าการดำเนินงานของผู้รับผิดชอบรายสินค้า (Mr.รายสินค้า) ว่า เพื่อเป็นการทำงานในเชิงรุก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีนโยบายให้กระทรวงเกษตรฯกำหนดผู้รับผิดชอบรายสินค้า ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการ15 สินค้าที่เกษตรกรมีส่วนเกี่ยวข้องและผลผลิตมาก ประกอบด้วย นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เป็น Mr.ข้าว นายวราวุธ ชูธรรมธัช รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็น Mr.ยางพารา นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็น Mr.ปาล์มน้ำมัน สับปะรด ถั่วเหลือง สินค้าพืชหัว คือ กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง
นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็น Mr.มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะพร้าว และผลไม้ คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็น Mr.พืชสมุนไพร ไม้ดอก ไม้ประดับ สินค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็น Mr.โคนมและโคเนื้อ นายจิระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็น Mr.สุกร นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ เป็น Mr.ไก่เนื้อและไก่ไข่
นายชำนาญ มีศรี รองอธิบดีกรมประมง เป็น Mr.สินค้าประมง นายบัญชา สุขแก้ว ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เป็น Mr.กุ้ง นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง เป็น Mr.การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือไอยูยู และ นายไพโรจน์ เฮงแสงชัย รองอธิบดีกรมหม่อนไหม เป็น Mr.หม่อนไหม
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับมอบหมายดังกล่าว ที่ประชุมเห็นชอบให้แต่งตั้งทีมการทำงานขึ้นโดยประสานกับหน่วยงานเกี่ยวข้องรวมทั้งกระทรวงพาณิชย์เพื่อกำหนดกรอบแนวทางการผลิตโดยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ให้แล้วเสร็จและรายงานให้ที่ประชุมรับทราบอีกครั้งในวันที่ 20 มี.ค. นี้ ทีมดังกล่าวจะ ทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวางแผนการผลิตรวมทั้งการเตือนภัย สถานกาณณ์ต่างๆ อที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งมีแนวทางป้องกัน ข้อมูลที่ได้เหล่านี้จะนำมาจัดทำเป็นบิ๊กดาต้า เป็นฐานข้อมูลของสินค้าเกษตรทั้งหมดที่สอดคล้องกับข้อมูลด้านการตลาด และเป็น ข้อมูลของเกษตรกรรายบุคล ที่ทุกหน่วยงานรวมทั้งเกษตรกรสามารถเข้ามาใช้ต้องมูล ดังกล่าวพร้อมทั้งตรวจสอบข้อมูลผ่านเลขบัตรประชาชน 13 หลัก
สำหรับสินค้าที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในขณะนี้คือยางพารา ที่ราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการออกมาแก้ไข พยายามใช้ในประเทศให้มากขึ้น ชะลอการส่งออก จูงใจให้โค่นยางเก่าที่มีอายุเกิน 20 ปี โดยคาดหวังว่าราคาในตลาดจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคายางพารายังมีปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถกำหนดได้ทั้งตลาดการซื้อขายล่วงหน้า และราคาน้ำมันดิบ ในขณะที่ยังเกี่ยวข้องกับประเทศผู้ผลิตรายอื่น ทั้งหมดต้องรอดูสถานการณ์แต่โดยรวมแล้วคาดว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้น
ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะมีปัญหาตามมาเนื่องจากผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วง 3-5 เดือนข้างหน้า คือ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยง โดยข้าวนาปรังคาดว่าจะมีเนื้อที่เพาะปลูก 11 ล้าน ไร่ ผลผลิต 8 ล้านตันข้าวเปลือก 4-5 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะหารือในคณะกรรมการนโยบายข้าวอีกครั้งถึงตัวเลขที่ชัดเจน แต่ในเบื้องต้นคาดว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำจะไม่เกิดขึ้นเพราะผลผลิตข้าวปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 22.65 ล้านข้าวเปลือกต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ 24.34 ล้านตันข้าวเปลือก ในขณะที่สต็อกข้าวไม่มีแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีเหตุการณ์ที่ใดที่จะกดราคาได้
สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระทรวงเกษตรฯอยากได้ราคามากกว่าที่กำหนดไว้ในปีที่ผ่านมาที่ให้ผู้ประกอบการรับซื้อกิโลกรัมละ 8 บาททุกพื้นที่จากผลผลิตคาดว่าจะออกสู่ตลาดประมาณ 4 ล้านตัน แต่การกำหนดราคาดังกล่าวต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้านการแข่งขันของสินค้าปศุสัตว์เช่นไก่เนื้อ สุกร ที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ ด้วย ดังนั้นทีม Mr.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้องหาระดับราคาที่พอดีกับทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนมันสำปะหลัง ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มขุดผลผลิตเพื่อจำหน่ายกันบ้างแล้ว แต่เนื่องจากราคา อยู่ในระดับที่สูงอยู่ และต่างประเทศยังต้องการ ดังนั้นปัญหาด้านราคาจะมีน้อยโดยผลผลิตทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 27 ล้านตัน