ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
ส้มโอขาวแตงกวาพืชนำร่องใช้ลายพิมพ์เปปไทด์ยกระดับความน่าเชื่อถือ
16 มี.ค. 2568

กรมวิชาการเกษตร มีรายงานว่า ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดนำเข้าส้มโอไทยในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ทวีความเข้มข้น ส่งผลให้ไทยต้องเร่งพัฒนาระบบตรวจสอบและยกระดับมาตรฐานให้แข็งแกร่ง เพื่อป้องกันการปลอมแปลงสินค้า รักษาความน่าเชื่อถือ และเตรียมรับโอกาสใหม่ ๆ ในการส่งออก รวมทั้ง การผลักดันสินค้าเกษตรไทยสู่มาตรฐานโลก จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการตรวจสอบพันธุ์ แหล่งผลิต และสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถการแข่งขัน พร้อมต่อยอด Soft Power ด้านผลไม้ไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก จึงมอบหมายให้ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ พัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์สารชีวโมเลกุลและสาระสำคัญ เพื่อระบุพันธุ์และแหล่งผลิตอย่างแม่นยำ อันเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยยืนยันอัตลักษณ์ของส้มโอไทย ซึ่งปัจจุบันการตรวจสอบคุณภาพและแหล่งที่มายังคงเป็นความท้าทาย แต่จากการวิเคราะห์ลายพิมพ์ DNA และ Peptide รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติด้วย Principal Component Analysis (PCA) และ ANOVA พบว่า ดีเอ็นเอของส้มโอพันธุ์เดียวกันจากแต่ละพื้นที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่ลายพิมพ์เปปไทด์กลับแสดงความแตกต่าง ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการระบุแหล่งที่มาของส้มโอไทยอย่างแม่นยำ

น.ส.วรารัตน์ ศรีประพัฒน์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวว่า ได้นำเทคนิคการวิเคราะห์สารชีวโมเลกุลมาใช้เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบแหล่งผลิตของส้มโอ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ จึงได้พัฒนาฐานข้อมูลสารชีวโมเลกุลจากส้มโอที่เก็บตัวอย่างในหลายฤดูกาล (อย่างน้อย 3-5 ฤดูกาล) ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือและสามารถใช้เป็นเครื่องมือป้องกันการปลอมแปลงสินค้าเกษตรไทย เทคนิคนี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถยืนยันคุณภาพและแหล่งผลิตของส้มโอ เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ผลิตในด้านการรับรองมาตรฐานสินค้า ทั้งยังสนับสนุนการป้องกันการปลอมแปลงสินค้าเกษตรในภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลจากการตรวจสอบสามารถนำไปใช้รับรองคุณภาพและแหล่งผลิตก่อนการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทั้งในและต่างประเทศ

กรมวิชาการเกษตร ได้นำวิทยาศาสตร์ การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาบูรณาการเพื่อพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับไปยังผู้ปลูกหรือแหล่งผลิตส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท โดยใช้ลายพิมพ์เปปไทด์ ในการจำแนกส้มโอขาวแตงกวา GI ชัยนาท จากส้มโอชนิดอื่น เทคโนโลยีนี้ช่วยเพิ่มความโดดเด่น สร้างจุดแข็ง และยกระดับความน่าเชื่อถือของสินค้าเกษตรไทย สอดคล้องกับมาตรการในการตรวจสอบแหล่งผลิตโดยใช้ฐานข้อมูลสารชีวโมเลกุล เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกษตรไทยในตลาดโลก ทั้งยังเป็นหลักประกันคุณภาพและความปลอดภัยของส้มโอไทย ทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2904-6885 ต่อ 95

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
13 ม.ค. 2568
ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (thaibizsingapore.com) ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของสิงคโปร์ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร ปริมาณการค้าไทย-สิงคโปร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 644,383 ...