เป็นเวลากว่า 53 ปีที่กรมการพัฒนาชุมชน(พช.) ก่อกำเนิดขึ้นมา ซึ่งภารกิจหลักของกรมฯ คือ การสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับชุมชนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้ที่มุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน ผู้มีรายได้น้อย และมุ่งเน้นการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนในระดับชุมชน เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และหวังให้ฐานรากเป็นฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกทาง
ทั้งนี้ งานของกรมการพัฒนาชุมชน แบ่งเป็นงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล จากกระทรวงมหาดไทย และงานตามภารกิจ และงานพัฒนาองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องที่ “นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ “อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนคนใหม่เห็นว่าจะต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กันเพราะเป็นกรมฯที่รัฐบาลมองว่ามีข้าราชการอยู่ในพื้นที่จำนวนมากประมาณ 7 พันกว่าคน ซึ่งรวมไปถึงในตำบล/หมู่บ้าน ขณะที่องคาพยพของกระทรวงมหาดไทยจะแตกต่างจากกระทรวงอื่น ซึ่งมีแขนขาอยู่ที่จังหวัด แต่สำหรับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยมีแขนขาลงลึกไปกว่านั้น อยู่ที่อำเภอ/ ตำบล /หมู่บ้าน ดังนั้นถ้าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จะต้องหันมาสร้างชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งเสียก่อน
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ยังเปิดเผยกับทีมข่าวอปท.นิวส์ ถึงภารกิจเร่งด่วนของกรมฯว่า พช.จะมุ่งสร้างผู้นำชุมชนที่แท้จริงให้มากขึ้น โดยให้พัฒนากรในแต่ละพื้นที่ไปหาปราชญ์ชาวบ้านที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาด้านต่างๆ อาทิ ปลูกผักเก่ง เลี้ยงปลาเก่ง หรือทำปุ๋ยลดต้นทุนได้ ฯลฯ เพื่อเข้ามาพัฒนาสู่กระบวนการถ่ายทอดหรือเป็นวิทยากรสอนองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชนโดยในปีงบประมาณ2559 พช.ตั้งเป้าจะสร้างปราชญ์ชาวบ้านขึ้นเป็นผู้นำให้ได้ตำบลละ 10 คน ซึ่งจะใช้ศูนย์อบรมทั้ง 11 แห่งที่มีอยู่ทั่วประเทศเข้ามาฝึกอบรมเพิ่มขีดความสามารถของผู้นำดังกล่าว
“ปีนี้เรามีงบประมาณสร้างได้สัก 2 หมื่นคน แต่คงจะสร้างผู้นำได้ไม่พอเพราะมีตำบลถึง 7 พันตำบล หลายหมื่นหมู่บ้าน ล้วนแล้วยังขาดผู้นำชุมชนที่แท้จริงอีกมาก ถึงแม้จะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ก็เป็นผู้นำเพียงคนเดียวคงไม่เพียงพอที่จะสร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้เพราะคนในชุมชนตำบลหมู่บ้านจะมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่กรมฯจะเร่งดำเนินการ การสร้างผู้นำชุมชนให้เกิดขึ้นเร็วและมีจำนวนมากพอที่จะรองรับคนในชุมชนให้ได้ และจะต้องสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชนได้ กล่าวคือ ต้องอ่านข้อมูลเป็น พูดนำที่ประชุมได้ คิดเป็น ขยายผลได้ รวมทั้งยังช่วยพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน “
นอกจากนี้ ในส่วนของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จะใช้โครงการ "หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์" หรือ โอทอปเป็นตัวนำ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการกระจายขายสินค้าในทุกโอกาส การส่งเสริมหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอป การขายสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ e - commerce การมีช่องทางการขายอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้โอทอปเกิดรายได้มากขึ้นและรวดเร็ว ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาโอทอปสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 1.9 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน จะใช้ช่องทางตลาดนัดชุมชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่ และปัจจุบันสามารถพัฒนาตลาดได้ถึง 3 พันกว่าแห่งแล้วทั่วประเทศ โดยใช้ตลาดดังกล่าวมาเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับเอกชนได้ซื้อขายกัน รวมทั้งจะบริหารกองทุนที่อยู่ในหมู่บ้านทั้งหมดให้เกิดความโปร่งใสและให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้ อาทิ กองทุนออมทรัพย์ กข.คจ.(โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน)
รวมถึงกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ในความดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรีที่พช.จะเป็นผู้ประสานงานให้ หรือแม้กระทั่งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เพิ่งรับโอนมาจากสำนักนายกฯ เป็นต้น ซึ่งหากสามารถทำ 4 เรื่องหลัก ๆ ข้างต้นได้ ก็จะส่งผลให้นโยบายขับเคลื่อนได้เร็ว อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2559 กรมการพัฒนาชุมชนได้รับงบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 5 พันกว่าล้านบาท ซึ่งจะนำมาพัฒนาต่อยอดโครงการต่าง ๆต่อไป
ด้านนายอาจณรงค์ สัตยพานิช ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน กล่าวเสริมว่า กรมฯ ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน เพื่อให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบมาตั้งแต่ปี 2552 และได้ขยายผลการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง กระจายไปทุกอำเภอ จนถึงปัจจุบัน มีหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบแล้ว 7 พันกว่าแห่งทั่วประเทศ
“เราทำหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ซึ่งตั้งเป้าอย่างน้อยใน 1 ตำบลจะต้องมี 1 หมู่บ้าน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.หรือเทศบาลเมื่อได้เห็นต้นแบบแล้วก็จะนำไปขยายผลว่าจะทำอย่างไร หรือนำเอาแนวคิดนี้ไปทำกิจกรรม ขณะที่คนในชุมชนหมู่บ้านจะรู้ว่ารู้กินรู้ใช้แบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไร ผลผลิตส่วนเกินจากการกินการใช้นำมาขายหรือแปรรูปได้ หรือแม้กระทั่งผลิตปุ๋ยเองเพื่อลดต้นทุน ทำน้ำหมักชีวภาพ การจัดทำบัญชีใช้จ่ายครัวเรือน และการออม ”