ทั้งนี้ มีรายงานข่าว เปิดเผยว่า แม้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะไร้ดาบ สอบขบวนการฮั้วเลือก สว.ในฐานความผิด“อั้งยี่ซ่องโจร” แต่การสอบสวนการกระทำความผิดฐาน “ฟอกเงิน” ซึ่งมีมติคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เป็นเกราะป้องกัน ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด ทีมสอบสวนของ “ดีเอสไอ” ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอภาพจากกล้องวงจรปิด โดยจะนำมาเชื่อมกับข้อมูลเอกสาร การลงคะแนนเลือก สว. 2 รอบ ในวันเลือกระดับประเทศ เพื่อยืนยันพฤติกรรมของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ว่าใครกระทำเข้าข่ายผิดกฎหมายบ้าง ถือเป็นการใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นหลักฐานการกระทำของ “ขบวนการฮั้ว สว.”
ขณะนี้ดีเอสไอได้จัดทำข้อมูล แบ่งกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือก สว.ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว มีทั้งที่เป็นพยาน และผู้ร่วมกระทำความผิด โดยแบ่งเป็น “สีต่างๆ” กระจายไปทุกจังหวัด ให้ง่ายต่อการเรียกสอบปากคำ
พร้อมทั้งนำภาพจากกล้องวงจรปิด รวมถึงเอกสารการเลือก และโพยที่ยึดได้ มาเปรียบเทียบ หรือจับคู่กัน เพื่อยืนยันพฤติการณ์ของแต่ละคน
สำหรับขบวนการนี้ มีเครือข่ายทั้งหมด 20,103 คน ได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับอำเภอ 6,402 คน ขึ้นเป็นตัวแทนระดับจังหวัด 959 คน ได้โหวตรอบสุดท้าย 433 คน และได้เป็น สว.ตัวจริง กับ สว.สำรอง 140 คน
โดยจากข้อมูลของ “ดีเอสไอ” จะแสดงให้เห็นว่ามีการแบ่งสีเอาไว้ชัดเจน เมื่อนำไปเทียบกับรายชื่อที่เป็นเอกสารผู้สมัครรับเลือก สว.ทั้งหมด ทุกกลุ่มทั่วประเทศ ทาง “ดีเอสไอ” จะดึงรายชื่อผู้สมัคร และผู้เข้ารอบทุกรอบ ทุกกลุ่มอาชีพ จากทุกอำเภอ ทุกจังหวัด มาตรวจสอบเปรียบเทียบ และแต้มสีตามกลุ่มเอาไว้ว่า ใครอยู่กลุ่มไหน หลังจากนี้จะเรียกมาสอบสวนทีละกลุ่ม
สำหรับขั้นตอนการทำงาน “ดีเอสไอ” มีดังนี้ ประสานให้ผู้การตำรวจภูธจังหวัด สั่งการให้ผู้กำกับ (หัวหน้าโรงพัก) ในแต่ละอำเภอที่รับผิดชอบ เรียกสอบบุคคลเป้าหมาย โดยเปิดโอกาสให้เป็นพยานเพื่อให้ข้อเท็จจริง พร้อมเรียกดูรายการรับจ่ายบัญชีธนาคารทุกบัญชีระหว่างวันที่ 15 พค. - 30 มิย. 2567
พร้อมกันนี้จะไล่สอบเริ่มจากชั้นฐาน ต่อด้วยชั้นล่าง ชั้นกลาง และระดับบนสุด โดยเงื่อนไขของการ “กันเป็นพยาน” คือ บุคคลที่ให้การเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนหาเส้นเงิน ให้หลักฐานมัดตัวผู้กระทำความผิดทั้งในระดับเดียวกันและสูงกว่า
ที่สำคัญต้องให้ข้อมูลขั้นตอน ขบวนการชักชวน ว่าจ้างให้กระทำผิด การให้โพยฮั้ว การนัดประชุม วางแผน การจ่ายเงิน และชื่อผู้กระทำผิดในกลุ่ม
โดยเทคนิค “สอบโพยฮั้ว สว.” สามารถแยกย่อย ได้ดังนี้
ระดับฐาน 13,701 คน >> ให้ปากคำที่อำเภอ >> เน้นในกลุ่มเดียว-สายเดียวกันในอำเภอ >> เน้นสอบหลักฐานที่โยงไปถึงระดับล่างในอำเภอ
ระดับล่าง 5,443 คน >> ให้ปากคำที่อำเภอ >> เน้นสายเดียวกันในจังหวัด >>เน้นสอบหลักฐานที่โยงไปถึงระดับกลางในจังหวัด
ระดับกลาง 526 คน>> ให้ปากคำที่จังหวัด >> เน้นทุกกลุ่มในจังหวัด>>สอบหลักฐานที่โยงไปถึงระดับบน ระดับประเทศในกลุ่ม
ระดับบน 293 คน>> ให้ปากคำที่จังหวัด >> เน้นทุกกลุ่มทุกสายในระดับประเทศ>>สอบหาหลักฐานที่โยงถึงระดับยอด
อย่างไรก็ตาม “ดีเอสไอ” จะเรียกสอบระดับ กลาง-บน ที่กันไว้เป็นพยานอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกชั้นหนึ่ง โดยคาดการณ์ว่ามาตรการ “กันไว้เป็นพยาน” จะเป็นปัจจัยหลักในการรวบรวมหลักฐานและพยานทั้งหมด
สำหรับข้อบังคับของ “กคพ.” ว่าด้วยแนวทางการสอบสวนบุคคลที่เป็นพยานสำคัญในคดีพิเศษ พ.ศ. 2568 การกันบุคคลที่รู้เห็นการกระทำผิดในคดีพิเศษเป็นพยาน
1. หลักเกณฑ์ในการกันพยาน ต้องเป็นบุคคลที่มีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคดีพิเศษ การให้ความร่วมมือของพยานต้องมีประโยชน์ต่อการดำเนินคดี การพิจารณาว่าจะกันบุคคลเป็นพยานขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
2. การคุ้มครองพยาน หากบุคคลที่ได้รับการกันเป็นพยานมีความเสี่ยงต่อชีวิตและความปลอดภัย อาจได้รับมาตรการคุ้มครอง มีมาตรการปกปิดข้อมูลพยานเพื่อป้องกันการข่มขู่หรืออันตราย
3. สิทธิและหน้าที่ของพยาน พยานมีหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นความจริง พยานอาจได้รับการลดหย่อนโทษหรือได้รับการยกเว้นโทษในกรณีที่เกี่ยวข้องกับคดี
4. กระบวนการสอบสวนและบันทึกคำให้การ การสอบสวนพยานต้องเป็นไปตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย มีการบันทึกคำให้การอย่างเป็นทางการเพื่อใช้เป็นหลักฐานในคดี
5. ผลกระทบทางกฎหมาย หากพยานให้การเท็จ อาจมีโทษตามกฎหมายอาญา การกันพยานไม่เป็นเหตุให้พยานพ้นจากความผิดโดยอัตโนมัติ ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี
สำหรับเงื่อนไข “การเป็นพยาน” ต้องเป็นบุคคลที่ให้การเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนหาเส้นเงิน และให้หลักฐานมัดตัวผู้กระทำความผิดทั้งในระนาบเดียวกันและสูงกว่า
ที่สำคัญต้องให้ข้อมูลขั้นตอน ขบวนการชักชวนว่าจ้าง ให้กระทำผิด การให้โพยฮั้ว การนัดประชุม วางแผน การจ่ายเงิน และชื่อผู้กระทำผิด ในกลุ่มแต่ละขอบเขต
การวางรูปแบบการสอบสวนจากระดับฐาน-ระดับล่าง-ระดับกลาง-ระดับบน ของ“ดีเอสไอ” เป็นเทคนิคแยกปลาออกจากน้ำ แยกคนออกจากเครือข่ายที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ถือเป็นการวัดใจ“เครือข่ายสีน้ำเงิน” หากใครใจแข็งอาจยอมเสี่ยง หากใครใจอ่อนอาจเปลี่ยนใจไม่กล้าเสี่ยง
ขณะเดียวกัน มีการส่งสัญญาณจาก “ดีเอสไอ”ไปยัง“กกต.”ว่า มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับขบวนการฮั้วเลือก สว.แล้วประมาณ 30 รายที่อยู่ในตำแหน่ง โดยจะส่งให้ กกต.นำไปวินิจฉัย ชี้มูลความผิดเบื้องต้น
ก่อนจะส่งต่อไปยัง “ศาลฎีกา” พิจารณาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สว. หรือไม่ โดยคาดการณ์ว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. - พ.ค.
ทั้งหมดคือความคืบหน้าการสอบสวนขบวนการ “ฮั้วเลือก สว.” ซึ่งอยู่ในขอบเขตอำนาจของดีเอสไอ ที่ถูกจับตาว่า จะสามารถล้วงลึกทั้งหลักฐาน และพยาน จนเอาผิด “ผู้ร่วมขบวนการ” ได้มากน้อยเพียงใด