"อาคม" เร่งดันเมกะโปรเจ็กต์พีพีพี 6.4 แสนล้านเปิดประมูลปีนี้ เผยเอกชนต่างชาติรุมจีบร่วมทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งเป้า ครม.เคาะไฟเขียวไฮสปีด ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ภายใน พ.ค.นี้ พร้อมจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ระยะที่2 ขอJICA ช่วยศึกษาการพัฒนา พื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ที่ได้รับการก่อสร้างด้วย เพราะปัจจุบันมีพื้นที่แปลงใหญ่ในกรุงเทพฯที่มีศักยภาพ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายในงานสัมมนา Public Private Partnership Summit เมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัฐบาลชุดนี้สนับสนุนงบลงทุนจำ นวนมากเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หวังรอง รับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงกระตุ้นตัวเลขจีดีพีของประเทศ ซึ่งปี 2561 นี้คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 4% โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้สนับสนุนโครงการร่วมลง ทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) รวมมูลค่ากว่า 9.38 แสนล้านบาท เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศ รวมถึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาพัฒนาระบบขนส่งของเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 จะเป็นช่วงที่เริ่มเห็นความชัดเจนของขั้นตอนและเริ่มเปิดประมูลเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ได้ทั้งหมด 6.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน วงเงิน 2.15 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรมบางขุนนนท์-ตลิ่งชัน วงเงิน 1.21 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตา ปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.01 แสนล้านบาท โครงการแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 1.41 แสนล้านบาท รวมถึงโครงการงาน ระบบและซ่อมบำรุงมอเตอร์ เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท และสายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงิน 3.3 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ภายในปี 61 กระทรวงคมนาคมตั้งใจจะผลักดันโครงการระบบรางขนาดใหญ่ให้สามารถเปิดประมูลได้ เริ่มจากโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 9 เส้นทาง วงเงิน 3.98 แสนล้านบาท ต้องเปิดประกวดราคาและได้ตัวเอกชนในปีนี้ ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่นเฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก วงเงิน 2.76 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลจะเร่งให้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือน พ.ค.นี้ หรือนับจากวันนี้ไปอีก 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในการเปิดเวทีรับฟังเสียงนักลงทุน (Market Sounding) ของโครงการต่างๆ ที่ผ่านมานั้น มีเอกชนบริษัทใหญ่จากต่างชาติสนใจเข้าร่วมลงทุนมากมายทั้งจากอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น รวมถึงโซนทวีปยุโรป โดยเฉพาะอิตาลีที่สนใจลงทุนหลากหลายระบบ ทั้งถนน ทางด่วนและรถไฟ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังเปิดเผยถึงกระทรวงคมนาคมได้มีการหารือเพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP 2) ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งรัดให้แผนแม่บทระยะที่ 1 ได้รับการปฏิบัติจริงให้ครบทั้งหมดก่อน ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการประกวดราคา ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรม อยู่ระหว่างการรอเสนอให้ทางคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP ) พิจารณา
ทั้งนี้แผนแม่บทระบบขนส่งฯในระยะที่ 2 นี้ จะเน้นส่วนที่เป็นศูนย์ย่อยรอบเมืองใน 3 จุดสำคัญได้แก่ 1)สถานีกลางบางซื่อ ที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมในอนาคต 2)บริเวณมักกะสัน และ 3)สถานีแม่น้ำ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีแผนพัฒนาพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งจะมีการพิจารณาศึกษาว่าจะสามารถนำระบบขนส่งใดเชื่อมต่อเข้าไปได้บ้างและเมื่อศึกษาเสร็จแล้วหลังจากนั้นก็ไปสู่การขั้นตอนการจัดทำรายละเอียดในแต่ละเส้นทางต่อไป
โดยในเบื้องต้นขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจะพิจารณาที่จะนำโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี, โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล – พระราม 9, โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงสถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี – คลองสาน – ประชาธิปก และโครงการรถไฟฟ้าบางนา – สุวรรณภูมิ เข้ามาอยู่ในแผน M-MAP2 นี้ด้วย แต่การดำเนินการดังกล่าวอาจจะมีการปรับแก้ได้อีกเนื่องจากสถานการณ์ของการใช้ที่ดินของกรุงเทพมหานครเปลี่ยนแปลงไปมาก
อย่างไรก็ตาม ในวเร็วๆ นี้จะมีการจัดสัมมนาเพื่อรายงานความก้าวหน้าของการศึกษา ก่อนที่จะสรุปผลในเดือน ส.ค.นี้ จากนั้นก็จะนำผลการศึกษาที่ทาง JICA จัดทำมาพิจารณาทบทวนกันอีกรอบ เพราะยังมีเวลาก่อนที่โครงการตามแผนแม่บทระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จในปี 2568
ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่าทางกระทรวงคมนาคมได้ขอให้ทาง JICA ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา พื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ที่ได้รับการก่อสร้างด้วย เพราะปัจจุบันมีพื้นที่แปลงใหญ่ในกรุงเทพฯที่มีศักยภาพเกิดขึ้นหลายพื้นที่ มีความสามารถที่จะพัฒนาได้ เช่น บริเวณสถานีแม่น้ำ ที่ทางการรถไฟฯสามารถนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาได้นอกเหนือจากการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว