นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมฯ มั่นใจว่าการดำเนินงานแปลงใหญ่ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนแปลงใหญ่อีก 1,838 แปลง ซึ่งข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นแล้ว 1,636 แปลง พื้นที่รวมกว่า 1.85 ล้านไร่ รวมจำนวนเกษตรกรรายใหม่ 74,483 ราย จึงนับเป็นความสำเร็จของนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ที่รัฐบาลผลักดัน เพราะนอกจากจำนวนเกษตรกรรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังพบว่าผลสำเร็จของโครงการเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ ทั้งในด้านการลดต้นทุน และการเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
"วัตถุประสงค์หลักของเกษตรแปลงใหญ่ ต้องการสนับสนุนให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการร่วมกัน นำไปสู่การลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต เพราะหากเกษตรการบริหารจัดการดีภายใต้การสนับสนุนและบูรณาการจากรัฐบาล รวมทั้งแรงหนุนจากภาคเอกชนที่เข้ามาส่งเสริมด้านการตลาด การวิจัย พัฒนา นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการเกษตร ก็จะทำให้การบริหารต้นทุน และรายได้ของเกษตรกรมีเสถียรภาพมากขึ้น เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันในอนาคต" นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย ยังกล่าวอีกว่า จากการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร ริเริ่มขึ้นเป็นเกษตรแปลงใหญ่ที่ผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชนตลอดการดำเนินโครงการมา พบว่าการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้เกิดขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างดีเยี่ยม อาทิ เกษตรแปลงใหญ่ข้าว ที่มีจำนวน 1,685 แปลง ข้อมูลการเข้าร่วมแปลงใหญ่ระหว่างปี 2559 – 2560 พบว่าสามารถลดต้นทุนสะสมไปได้ถึง 449.51 ล้านบาท ผลผลิตเพิ่มขึ้น 1,579.10 ล้านบาท เช่นเดียวกับแปลงใหญ่พืชไร่ ประเภทมันสำปะหลัง ลดต้นทุนสะสม 121.57 ล้านบาท ผลผลิตเพิ่ม 302.29 ล้านบาท เป็นต้น
โครงการเกษตรแปลงใหญ่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2559 มีเกษตรกรตอบรับเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขในปี 2559 มีจำนวนแปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการ 597 แปลง ในพื้นที่ 1,403,438.41 ไร่ รวมเกษตรกรจำนวน 95,169 ราย เพิ่มขึ้นในปี 2560 มีจำนวนแปลงใหญ่ใหม่อีก 1,934 แปลง พื้นที่ 1,965,875 ไร่ เกษตรกรรายใหม่ 153,789 ราย
นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหน่วยงานในพื้นที่ บูรณาการร่วมกันดำเนินการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะเกษตรแปลงใหญ่เกี่ยวกับการปลูกข้าว ที่ได้ดำเนินการมาแล้วเป็นปีที่ 3 โดยมีกรมการข้าวเป็นหน่วยงานหลัก หน่วยงานบูรณาการภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงโครงการชลประทานเชียงใหม่ที่คอยดูแลการบริหารจัดการน้ำต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ จากโครงการอ่างเก็บน้ำแม่โก๋นที่มีความจุด 5.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้เพียงพอ และสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ และชนิดของพืช เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 5 ด้าน คือ
ด้านลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต มาตรฐานการผลิต การตลาด การบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิต การตลาด รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีข้อตกลงร่วมกัน เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำ อย่างยั่งยืน จนเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและร่วมกันพัฒนาภาคการเกษตรต่อไปสำหรับ พื้นที่โครงการเกษตรแปลงใหญ่ที่ได้รับการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่โก๋น มีกว่า 6,800 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ จำนวน 495 ราย มีการปลูกพืช ผัก ไม้ผล จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว มะม่วง ลำไย ในพื้นที่ ตำบลสันทราย ตำบลป่าไหน่ และตำบลเวียง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่