วันนี้ (15 มิถุนายน 2561) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุม ACMECS CEO Forum ภายใต้หัวข้อ “บทบาทของภาคเอกชนในการสร้างประชาคมลุ่มน้ำโขง” ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS Summit) ครั้งที่ ๘ สรุปสาระสำคัญดังนี้
การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติสมาชิก ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือในกรอบ ACMECS โดยอาศัยความได้เปรียบจากความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรม เพื่อลดช่องว่างในการพัฒนา มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดน โดยความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดนและในระดับท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญยิ่งในการส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองแบบยั่งยืนร่วมกันของอนุภูมิภาค
ทั้งนี้ โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศ ACMECS จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ที่ต้องยกระดับสินค้าเกษตรด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมถึงการบริหารจัดการความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (development partners) ให้มีสมดุล เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความเป็นเอกภาพ สามารถรักษาบทบาทและความเป็นแกนกลางของอาเซียนเอาไว้ได้ ทุกชาติสมาชิกจึงเห็นพ้องในการจัดทำแผนแม่บท ACMECS (ACMECS Master Plan) เพื่อปรับโครงสร้างและจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือ โดยมุ่งเน้นสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม ดิจิทัล พลังงาน การเชื่อมโยงกฎระเบียบทางการค้า การลงทุน และการเงิน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม
ภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว ภาคเอกชนถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา ACMECS ในการเป็นผู้ขับเคลื่อนการเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค เพื่อให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนเดินทางไปพร้อม ๆ กัน โดย
1. ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนการลงทุนใน ACMECS เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในอนุภูมิภาค ACMECS ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างครบวงจร เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โครงสร้างพื้นฐาน ในรูปแบบ Public - Private Partnership ไทยจึงได้ผลักดันให้บรรจุ เรื่อง การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร้รอยต่อ เป็นหนึ่งในเสาหลักของทิศทางการพัฒนา ACMECS ในอนาคต และจะผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน ACMECS ขึ้น
2. ภาคเอกชนจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทในการเตรียมพร้อมให้ ACMECS สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ทั้งจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาเกษตรกรยุคใหม่ (smart farmer) ตลอดจนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) รวมทั้งวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน Smart ACMECS
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีจึงได้กล่าวเชิญชวน ภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมกำหนดเป้าหมายเร่งด่วนในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม ตลอดจนประเด็นที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวก หรือปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่นและสอดประสานกันมากขึ้น
3. ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการพัฒนา สามารถเจริญเติบโตไปได้พร้อมกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind)
ประเทศไทยพร้อมจะให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการต่อประเทศสมาชิก ACMECS โดยเฉพาะในหลักสูตรการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข้ง เกิดการพัฒนาภาคเกษตรจากภายในสู่ภายนอก และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาที่จำเป็น โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศ และในระดับชุมชน
นอกจากนี้ ไทยมองว่า ภาคธุรกิจยังสามารถช่วยเร่งรัดการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาค ACMECS และการจ้างงานแรงงานจากชาติสมาชิก ACMECS ได้อีกด้วย โดยไทยพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้ ACMECS เป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยอาศัยศักยภาพของประเทศไทยที่เป็นจุดหมายลำดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในการกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่ประเทศสมาชิก ACMECS อื่น ๆ ตามนโยบาย Thailand + 1 ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยังได้ริเริ่มนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปยังชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่บริเวณชายแดนด้วย ในการจ้างแรงงาน ไทยมีนโยบายเปิดกว้าง โดยรัฐบาลได้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง ตามบริเวณแนวชายแดน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีความเหมาะสม และมีศักยภาพ อีกทั้งยัง มีมาตรการการอำนวยความสะดวกในการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เหล่านี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า ประเทศไทยและรัฐบาลมีนโยบายต้อนรับแรงงานต่างด้าวที่เดินทางมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะตระหนักดีถึงบทบาทของแรงงานเหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และพร้อมที่จะให้การดูแลแรงงานเหล่านี้ให้ได้รับสิทธิต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเชิญชวนภาคเอกชนจากทุกประเทศมาร่วมกันพัฒนาความร่วมมือในกรอบ ACMECS ให้ลึกซึ้ง แนบแน่น และเจริญก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้ทุกประเทศมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สามารถเจริญก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กันได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าว เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) อีกทั้งยังสอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (inclusive growth)