นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยวิสัยทัศน์การดำเนินนโยบายขององค์กรอย่างเป็นทางการในโอกาสรับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 14 ว่าในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและพยายามมองหาพันธมิตรร่วมดำเนินการผลิตไฟฟ้าและบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างกำหนดแนวทางหารือในการร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ที่คาดว่าจะมีข้อสรุปชัดเจนช่วงกลางเดือนก.ค.นี้ โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศ
ทั้งนี้ นอกจากความร่วมมือกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือเอสซีจี ซึ่งกฟผ.พร้อมวิจัยพัฒนานำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า ต่อยอดเชิงพาณิชย์ และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาโครงการระบบส่งไฟฟ้ารองรับพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จตามกำหนด พัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดให้การผลิตและจ่ายพลังงานไฟฟ้ามีเสถียรภาพ และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น
สำหรับความคืบหน้าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) 1.5 ล้านตัน อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยยืนยันมีความพร้อมจัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจีแล้วเสร็จเป็นไปตามแผนที่กำหนดภายในปี 2561 นี้เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. แต่ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บกับประชาชน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.หรือเรกกูเลเตอร์) จะออกมาเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป สำหรับแผนการลงทุนของ กฟผ. ในระยะ 5 ปีนั้น ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของแผนพีดีพีฉบับใหม่ว่าจะมีแนวทางกำหนดให้กฟผ.ดำเนินไปในทิศทางใด
นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้ปรับแนวคิด ปรับตัว และปรับโครงสร้างให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยปัจจุบันกฟผ.มีบุคลากรประมาณ 22,000 คน และคาดว่าจะมีการเกษียณภายใน 3-5 ปีลดลงเหลือประมาณ 16,000 คน จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรที่สามารถรองรับการพัฒนาระบบไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้า โดยไม่หยุดที่จะเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงปรับวิธีการทำงานใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มากขึ้น
โดยจะมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ด้วยการสื่อสารสองทางให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับชุมชนและสังคม ให้ได้รับทราบข้อมูลโครงการทุกประเด็น ทั้งข้อดีและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเปิดเผย โปร่งใส ชุมชนสามารถซักถามแสดงความคิดเห็นได้โดยตรง ให้ใช้สิทธิชุมชนตามกฎหมายอย่างเต็มที่ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงร่วมของชุมชนที่ชัดเจนก่อนจะทำการศึกษา EIA – EHIA เชื่อว่าหากชุมชนยอมรับตั้งแต่ต้น จะทำให้ดำเนินโครงการต่างๆ ตาม PDP ได้ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตามกฟผ.ยืนยันยังคงสัดส่วนการผลิตสร้างความมั่งคงด้านไฟฟ้าของประเทศ 30%