เร่งเครื่องไทยนิยม ยั่งยืน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 61 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับจัดสรร 24,993 ล้านบาท ขับเคลื่อน ระบุ งบประมาณอัดฉีดชูเกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.3 ล้านราย จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 35,304 ล้านบาทต่อปี กระตุ้นระบบเศรษฐกิจ 63,599 ล้านบาท พร้อมผลักดัน ศพก.882 ศูนย์ ปั้นเกษตรกรเป็นตัวแทนราชการรับเรื่องปัญหาในพื้นที่เพื่อการแก้ไขปรับปรุงได้ทันที
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวนทั้งสิ้น 24,993 ล้านบาท (เป็นงบลงทุน 16,152 ล้านบาท และงบดำเนินงาน 8,841 ล้านบาท) มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.3 ล้านราย และสามารถสร้างอาชีพใหม่ เช่น อาชีพประมง ปศุสัตว์ การปลูกพืช (ผลิตเมล็ดพันธุ์) แปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ศิลปะชีพ หัตถกรรม และการซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตร
(1) แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพ วงเงินรวมประมาณ 24,300 ล้านบาท แบ่งเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 23,796 ล้านบาท (17 โครงการ ดำเนินการโดย 14 หน่วยงาน) แบ่งออกเป็นกลุ่มโครงการ 5 กลุ่ม 1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชน วงเงิน 10,090 ล้านบาท โดยสร้างฝายชะลอน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซ่อมแซมระบบชลประทาน สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 18,020 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 2.14 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์จากแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น8 แสนราย
2. การปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อลดความเสี่ยง วงเงิน 1,583 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเกษตรกรทำกิจกรรมเกษตรอื่นทดแทนการทำสวนยาง จำนวน 150,000 ไร่ รายละไม่เกิน 10 ไร่ จำนวน 30,000 ราย รวมทั้งฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้ในการประกอบอาชีพใหม่ 3. พัฒนาการผลิตพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ วงเงิน 713 ล้านบาท โดยปรับปรุงศูนย์ขยายพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตท่อนพันธุ์และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 10 ศูนย์ การผลิตและการกระจายพันธุ์สัตว์ปีก 25,160 ตัว รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่าย 26 กลุ่ม
4. แก้ไขปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร วงเงิน 5,997 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอาชีพด้วยการฝึกอบรมตามความต้องการของเกษตรกร 1.9 ล้านราย และอุดหนุนเงินทุนให้แก่ชุมชน จำนวน 9,101 ชุมชนๆ ละ 3 แสนบาท 5. บริหารจัดการสินค้าเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่ม วงเงิน 5,904 ล้านบาท เพื่อพัฒนาสถาบันเกษตรกรในการจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร (แก้มลิง) 146 แห่ง สนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรแก่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร 101 แห่ง เพิ่มศักยภาพการรวบรวมและการแปรรูปยางพาราในสถาบันเกษตรกร 62 แห่ง รวมทั้งส่งเสริมการใช้ยางในด้านชลประทาน โดยนำยางพารามาซ่อมแซมและปรับปรุงคันคลองชลประทาน 317 โครงการ
ในการนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้วิเคราะห์ผลกระทบของโครงการไทยนิยม ยั่งยืนต่อเศรษฐกิจภาพรวมและประโยชน์ที่เกิดขึ้นเกษตรกร พบว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจภาพรวมงบประมาณที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับทั้งสิ้น 24,993 ล้านบาท จะก่อให้เกิดการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 63,599 ล้านบาท (2.54 เท่าของงบประมาณ) โดยแบ่งออกเป็นด้านการผลิต 47,563 ล้านบาท จากค่าจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในโครงการลงทุนก่อสร้างส่งผลให้เกิดการผลิตสินค้าวัสดุที่เกี่ยวเนื่องในระบบห่วงโซ่การผลิต และด้านรายได้ 16,035 ล้านบาท จากค่าจ้างแรงงานในโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นรายได้แรงงานที่จะถูกนำไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภคของครัวเรือนและกระจายไปเป็นรายได้ของร้านค้ารวมถึงธุรกิจในชุมชนที่ต่อเนื่อง
ซึ่งจากผลกระทบต่อเกษตรกรที่วัดจากที่เกษตรกรได้รับจากกิจกรรมโครงการต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เช่น รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตที่ลดลงและโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อสร้างเพิ่มขึ้นหรือพัฒนาให้ดีขึ้น โดยผลวิเคราะห์พบว่า เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 35,304 ล้านบาท/ปี โดยเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการพัฒนาแหล่งน้ำชลประทานในการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน2.12 ล้านไร่ คิดเป็น 10,288 ล้านบาท กิจกรรมเพิ่มศักยภาพการผลิตและการพัฒนาทักษะอาชีพ 23,897ล้านบาท กิจกรรมการลดต้นทุนการผลิตด้วยการสนับสนุนเมล็ดพืชและสัตว์พันธุ์ดี 874 ล้านบาท และกิจกรรมเสริมศักยภาพธุรกิจสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 245 ล้านบาท นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้น จากกิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ 1,341 แห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำการเกษตรในอนาคตทั้งในพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่ ส.ป.ก.
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ โดยใช้เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการปฏิบัติจริงสู่และยังเป็นการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่
ซึ่ง ศพก. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยและยังทำหน้าที่เหมือนตัวแทนของหน่วยราชการในพื้นที่ในการรับทราบปัญหาของเกษตรกรเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างทันที ที่สำคัญคือต้องมีการตรวจสอบการบริหารงบประมาณในโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่ลงไปยังพื้นที่ว่ามีความถูกต้อง โปร่งใส และถึงมือเกษตรกรหรือไม่ และเพื่อการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืนของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม ศพก.จะต้องเชื่อมโยงเครือข่ายองค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้สามารถครอบคลุมทั่วประเทศและสมาชิกในชุมชนต่างๆ ก็สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้งานในการพัมนาผลิตภัณฑ์เกษตรต่อไปได้