เดินหน้าแผนพลังงานระยะยาวขับเคลื่อนโครงการภายใต้ 5 แผนพลังงาน ในปี 2559 - 2560 สะสางภารกิจพลังงานให้เป็นรูปธรรม เร่งผลักดันแข่งขันธุรกิจพลังงานเสรี และเป็นธรรม พร้อม จับมือเพื่อนบ้านเชื่อมโยงและพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกัน เชื่อมั่น สิ้นสุดแผน 20 ปี สร้างภาคพลังงานของประเทศให้ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัญหาด้านพลังงานในช่วงก่อนที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ประกอบด้วย 4 ปัญหาหลัก ได้แก่ โครงสร้างราคาพลังงานที่ไม่เหมาะสมและเป็นธรรม การส่งเสริมพลังงานทดแทนเกิดการหยุดชะงัก สภาพผูกขาดของกิจการพลังงาน และประเทศขาดแผนพลังงานในภาพรวม ทั้งนี้ ในการแถลงผลงานของรัฐบาลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมานั้น ในส่วนของกระทรวงพลังงานได้มีการดำเนินการภารกิจที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลครบในรอบ 1 ปี ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2557 ถึง 15 ธันวาคม 2558 ในภารกิจหลัก 2 ด้าน คือ ด้านการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน และการดำเนินงานตามนโยบาย ซึ่งมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ อาทิ
ด้านการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ได้มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินสะสมของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีประมาณกว่า 7 พันล้านบาท โดยได้ทยอยลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ตามหลักการที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเห็นชอบ ทำให้สามารถสะสางหนี้กองทุนจนหมด และมีเงินกองทุนสะสมมากถึง 4 หมื่นกว่าล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการปลดล็อกอุปสรรคการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยมีการผลักดันการแก้กฎระเบียบและกระบวนการออกใบอนุญาตให้มีความรวดเร็วขึ้น อาทิ การออกใบอนุญาตตามกฎหมายโรงงาน (รง.4) การอนุมัติให้มีการอนุโลมย้ายสถานที่ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มกรณีที่มีปัญหาเรื่องสายส่ง ทำให้สามารถอนุมัติโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจำนวน 269 โครงการ รวม 1,597.02 เมกะวัตต์
ด้านการดำเนินงานตามนโยบาย กระทรวงพลังงานได้มุ่งเน้นการดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ ด้านพลังงานมั่นคง เศรษฐกิจมั่งคั่ง และสังคมไทยยังยืน โดยในนโยบายด้านพลังงานมั่นคง ในรอบปีที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการในเรื่องสำคัญๆ ประกอบด้วย การจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 20 ปี การส่งเสริมการจัดหาและขยายโครงสร้างพื้นฐานปิโตรเลียม การบริหารจัดการและพัฒนาระบบไฟฟ้า และการผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศ ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจมั่งคั่ง ได้มีการปรับราคาพลังงานให้เป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน และการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน สำหรับนโยบายด้านสังคมไทยยั่งยืน กระทรวงพลังงานได้มุ่งเน้นส่งเสริมในเรื่องต่างๆ ได้แก่ การเร่งรัดส่งเสริมพลังงานทดแทน การบริหารจัดการด้านอนุรักษ์พลังงานอย่างเข้มข้น การเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านพลังงาน และการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้เกษตรกร
นอกเหนือจากการบูรณาการภาคพลังงานภายในประเทศแล้ว กระทรวงพลังงานยังได้มุ่งเน้นความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศ โดยมีกรอบความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนร่วมกัน ได้แก่ การจัดทำ MOU กับ เมียนมา การจัดทำ MOU กับ รัสเซีย และความร่วมมือด้านพลังงานในอาเซียน ทั้ง 7 สาขา ประกอบด้วย ปิโตรเลียม ไฟฟ้า พลังงานทดแทน อนุรักษ์พลังงานถ่านหินสะอาด นิวเคลียร์ นโยบายและแผนพลังงาน โดยล่าสุดร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation) ฉบับปี พ.ศ.2559-2568 เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนได้มีการจัดทำ MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานกับ ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) ซึ่งมีขอบเขตครอบคลุมถึงประเด็นความมั่นคงทางพลังงาน กรอบแนวทางการสำรองน้ำมัน นโยบายและมาตรการต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางพลังงาน ตลอดจนข้อมูลสถิติพลังงาน ล่าสุด การกระทรวงพลังงานได้เข้าร่วมการประชุม IEA Ministerial Meeting 2015 ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในฐานะประเทศพันธมิตรที่ไม่ได้เป็นสมาชิก และทาง IEA ได้เห็นชอบยกระดับความร่วมมือกับประเทศไทยเป็นรูปแบบ Association อีกด้วย
สำหรับภารกิจก้าวต่อไปที่กระทรวงพลังงานมีแผนจะดำเนินการในช่วงปี 2559-2560 ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนภายใต้แผนบูรณาการพลังงานระยะยาวทั้ง 5 แผน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าแผนดังกล่าวจะบรรลุเป้าหมายที่ตามกำหนด ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ผลักดันโครงการต่างๆ ดังนี้ 1.) แผน PDP ปี 2559-2560 จะเร่งผลักดันการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดจังหวัดกระบี่และสงขลา โดยสำหรับโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ ให้การหารือในคณะกรรมการไตรภาคีได้ข้อยุติโดยเร็ว จัดทำอัตรารับซื้อไฟฟ้า (FiT) สำหรับ SPP ให้แล้วเสร็จ จัดทำข้อเสนอนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจฯ ให้แล้วเสร็จ และเร่งรัดการดำเนินโครงการ Smart Grid ตามแผน 2.) แผน AEDP ปี 2559-2560 จะดำเนินการเร่งรัดการจ่ายไฟฟ้าโครงการพลังงานทดแทนที่มีสัญญาแล้วให้เข้าระบบ(COD) อาทิ โครงการติดตั้งโซล่าร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์การเกษตร และโครงการพลังงานทดแทนอื่นๆ ผลักดันร่าง พ.ร.บ. พลังงานทดแทนให้แล้วเสร็จและมีผลบังคับเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งเสริมพลังงานทดแทนในภาพรวมของประเทศ การส่งเสริมการผลิตการใช้ CBG เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อใช้ในยานยนต์ รวมถึงนำร่องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่
3.) แผน EEP ปี 2559-2560 ดำเนินการผลักดันให้เกิดโครงการ ESCO ในหน่วยงานภาครัฐ ผลักดันให้มีการออกกฏกระทรวงเพื่อให้การกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานในอาคารใหม่ (BEC) สามารถบังคับใช้ได้จริง โดยบูรณาการกับกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นหน่วยที่จะนำไปปฏิบัติอย่างใกล้ชิด เดินหน้าโครงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น อุตสาหกรรมห้องเย็น แช่แข็ง และตรวจสอบการใช้พลังงานโรงงาน/อาคารควบคุมอย่างเข้มข้น 4.) แผน Oil Plan ปี 2559-2560 ดำเนินการการผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้การบริหารจัดการกองทุนมีประสิทธิภาพ การผลักดันให้มีการเริ่มลงทุนโครงการระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศึกษาและจัดทำแผนในการลดชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงให้ชัดเจน และศึกษาและจัดทำแนวทางบริหารจัดการการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง 5.) แผน Gas Plan ปี 2559-2560 จะดำเนินการเร่งผลักดันการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ให้แล้วเสร็จเพื่อนำไปสู่การเปิดให้ยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ บริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุให้ได้แนวทางที่ชัดเจน และ ผลักดันให้ Third Party Access (TPA Code) ไปสู่การปฏิบัติและมีผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายอีก 20 ปี เมื่อสิ้นสุดแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว จะสามารถสร้างภาคพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคง โดยสามารถการจัดหาพลังงานเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชน โดยมีระดับการผลิตไฟฟ้าสำรองให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด และสร้างเศรษฐกิจไทยมั่งคั่ง ซึ่งสามารถทำให้ราคาพลังงานของประเทศไทยอยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนต้นทุน และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนสร้างสังคมไทยยั่งยืน ด้วยการพัฒนาพลังงานของประเทศควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ให้เป็น 30% จากการใช้พลังงานรวมทั้งหมด ภายในปี 2579 และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยตั้งเป้าหมายลดค่าความเข้มของการใช้พลังงานลง 30% ในปี 2579 โดยคาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานเป็นมูลค่า 842,130 ล้านบาทต่อปีลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้ 317 ล้านตัน