การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากมายทั้งในภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเทศจีน ซึ่งทุกวันนี้มีการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นคู่ค้าและพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับจีนจึงไม่อาจนิ่งนอนใจในการพัฒนาตนเองเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
ดังนั้น เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน จึงได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “สังคมดิจิทัล อนาคตที่หลีกไม่พ้น…ก้าวเดินของจีน พัฒนาการของไทย” ขึ้นที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาปาฐกถาเปิดงาน พร้อมด้วยนายหยางซิน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของไทยได้ กล่าวเปิดงานว่า การค้าการแลกเปลี่ยนระหว่างไทย-จีน มีมากมาย ทำให้การเชื่อมความสัมพันธ์ทางดิจิทัลระหว่างไทย-จีน ก็สำคัญเช่นกัน การเชื่อมโยงหรือ Connectivity ซึ่งความเชื่อมโยงนี้นอกจากเชื่อมทางกายภาพหรือระบบรางทางพื้นดินแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงทางดิจิทัล เช่น การเชื่อมกันทางระบบไฟเบอร์ออพติกทั้งบนดินและใต้ทะเล การเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนการค้าระหว่างแดนหรือ Cross Border Trade ที่ผ่านโลกดิจิทัล หรือการแลกเปลี่ยนแรงงานดิจิทัล ก็เกี่ยวข้องกับภารกิจกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อีกประการหนึ่งคือ การประสานงานให้สอดคล้องกัน หรือ Synchronization เช่น การประสานงานให้สอดคล้องกันทางด้านกฎหมายการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การประสานงานให้สอดคล้องกันทางด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ต้องมีกำหนดมาตรฐานการคุ้มครอง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นภารกิจที่เกี่ยวข้องกับไทย-จีน
นอกจากนี้ งานด้านระบบอัจฉริยะ Smart Tourism การดูแลนักท่องเที่ยวด้วยระบบอัจฉริยะ รวมไปถึงงานด้านเมืองอัจฉริยะ ระบบการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งก็สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากจีนได้เช่นกัน ทั้งในด้านเครื่องมือ และองค์ความรู้ ทั้งนี้ ในยุคนี้ต้องมีการ Re-skill เพิ่มเติมทักษะใหม่ๆให้แรงงาน และมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับหลักสูตรให้ทันสมัย รอเปลี่ยนทุก 5 ปีไม่ได้อีกต่อไปเพราะเทคโนโลยีไปเร็วมาก ปัจจุบันจำนวนโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยมีมากกว่า 179% ของประชากร พลเมืองไทย ใช้เวลากับสื่อเครือข่ายสังคมมากกว่า 3-5 ชั่วโมงต่อวัน
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยก็ร่วมมือกับจีนในด้านนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน หรือ One Belt, One Road โดยจะนำเอา Digital มาผลักดันการเปลี่ยนผ่าน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมจนนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป ยกตัวเองให้หลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง และ เตรียมคนให้พร้อมต่อไป ในแผนจะเริ่มจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางดิจิทัล (Digital Infrastructure) ด้วยการกระจายความเจริญทางดิจิทัลออกไปทั่วประเทศ ให้ทุกๆ หมู่บ้านสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ หลังจากนั้นก็จะเป็นการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Manpower) พัฒนา Digital Technology ด้วยการสร้าง Digital Park ที่ศรีราชา การสร้างสถาบันด้าน IoT สร้าง Smart EEC และ Smart City ที่ จ.ภูเก็ต จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น โดยมีจุดเน้นที่ต่างกันเช่น เน้นเป็น Hub ด้านสุขภาพบูรณาการ หรือเป็น Hub ด้านการเกษตร นอกจากนี้ ก็จะมีการพัฒนา Cyber Security และงานด้าน Digital Government สร้างสรรค์การบริการให้ความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยง และกำกับดูแลของตัวบทกฎหมายที่สอดคล้องกับนานาประเทศ
ขณะที่ นายหยาง ซิน อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้ กล่าวถึงพัฒนาการสังคมดิจิทัลของจีน ความว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของจีนอยู่ในอันดับ 2 ของโลก โดยที่สหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 1 แต่เชื่อว่า ในไม่ช้าจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีความเชื่อมโยงกับนโยบาย หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน หรือ One Belt, One Road ความร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศ จึงเป็นเรื่องดีที่จะนำให้เกิดผลประโยชน์มายังทั้งไทยและจีน
หลังจากนั้นเป็นการเสวนาเรื่อง “จีนต้นแบบสังคมดิจิทัล พัฒนาการที่หนีไม่พ้นของเศรษฐกิจไทย” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. (ETDA) นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) นายวชิระชัย คูนำวัฒนา กรรมการผู้จัดการ Innovation Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และนายเจมส์ สู International Public and Government Affairs Deputy Director ของอาลีบาบา ประจำประเทศไทย โดยมีนายภูวนารถ ณ สงขลา อุปนายกสมาคมฯ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
นางสุรางคณา กล่าวว่า จากสถิติจะเห็นได้ว่ามีชาวจีนอีกหลายส่วนที่ยังไม่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือว่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย หน้าที่ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ คือการทำให้ประชาชนรับรู้และใช้ประโยชน์จากการทำธุรกรรมออนไลน์ โดยไม่อยากให้มองว่า การทำธุรกิจกับจีนเป็นการเสียโอกาสเพียงฝ่ายเดียว เพราะว่าสินค้าไทยหลายอย่างเป็นที่นิยมในจีน ซึ่งตลาดจีนคือโอกาสสำคัญของสินค้าไทยและคนไทย การที่จีนในขณะนี้เป็นสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ ไทยจะต้องปรับตัวอีกหลายอย่าง ทั้งการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งอาจมีการคาบเกี่ยวกันได้ในหลายส่วน รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยถอดบทเรียนจากจีนทั้งในด้านการควบคุมดูแลมาด้วยอีกทาง
นายบัณฑิต กล่าวว่า ธุรกิจพลังงานก้าวไปสู่สังคมดิจิทัลจากการใช้พลังงานจะเปลี่ยนไป โดยจะใช้น้ำมันน้อยลง และใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าจากการเป็นผู้บริโภคที่ต้องซื้อพลังงานจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวจะกลายเป็นผู้ผลิตที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้ด้วยตัวเอง ปัจจุบันได้มีโครงการนำร่องร่วมกับแสนสิริ ซึ่งจะมีการทดลองใช้ในอีกสองเดือนข้างหน้า เป็นการติดตั้งหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งรับประกันว่าค่าไฟฟ้าจะลดลง และส่วนที่เหลือใช้สามารถนำไปขายต่อให้กับเพื่อนบ้านในชุมชนเดียวกัน หรือให้กับรัฐบาลผ่านทางแพลตฟอร์มของ บีซีพีจี ซึ่งได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้งาน โดยหน่วยกลางในการแลกเปลี่ยนจะใช้เป็นสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) ซึ่งทางบีซีพีจี จะเป็นผู้รับความเสี่ยงของการที่ค่าเงินจะผันผวนอย่างรุนแรงอีกทางด้วย
ส่วนนายวชิระชัย มองว่า Digital Disruption คือความท้าทายที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล ถึงแม้ว่า SCG จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ซัพพลายเชนร้านค้า ช่องทางการจัดจำหน่ายของเราได้รับผลกระทบ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของธุรกิจก็คือจะปรับตัวกันอย่างไรเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ทั้งนี้ เศรษฐกิจในยุคนี้ไม่ใช่การแข่งขันอีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นความร่วมมือกันเพื่อรับมือกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการนำความเชี่ยวชาญที่แต่ละคนมีอยู่มาใช้ แล้วสร้างระบบนิเวศขึ้นมาเพื่อเติบโตไปพร้อมๆ กัน
ขณะที่นายเจมส์ สู ได้กล่าวถึงโอกาสและความร่วมมือระหว่างไทยและจีนว่า อาลีบาบามองไทยยังมีโอกาสอีกมาก เมื่อมองจากนโยบายของรัฐบาลจีนกับไทยแล้ว นับว่ามีนโยบายที่ใกล้เคียงกันอยู่มาก อย่างจีนก็มียุทธศาสตร์ Made in China 2025 ในขณะที่รัฐบาลไทยก็มียุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ทางจีนก็มีนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road ที่มีความเชื่อมต่อกับภูมิภาคอาเซียน หรือ AEC อาลีบาบาพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนของไทยในการให้การฝึกอบรม และให้ความช่วยเหลือในมิติต่างๆ อย่างใกล้ชิด