กระทรวงมหาดไทยถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อน “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยในการเดินทางไปเป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off “โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในการแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน รัฐบาลได้มุ่งใช้หลัก "ประชารัฐ" โดยบูรณาการทุกภาคส่วน ทำงานร่วมกันภายใต้โครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" นั้น รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 เพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวประกอบด้วย
1.จัดสรรผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ งบประมาณ 20,000,000,000 บาท (สองหมื่นล้านบาท) 2.จัดสรรผ่านกระทรวงการคลัง โครงการผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ งบประมาณ 21,078,000,000 บาท (สองหมื่นเจ็ดสิบแปดล้านบาท) 3.จัดสรรผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โครงการค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ งบประมาณ 20,000,000,000 บาท (สองหมื่นล้านบาท) และ 4.จัดสรรผ่านกรมการพัฒนาชุมชน โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 9,328,000,000 บาท (เก้าพันสามร้อยยี่สิบแปดล้านบาท)
ทั้งนี้ โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จึงเป็นโครงการที่เป็นรูปธรรม ในการขับเคลื่อนภารกิจโครงการไทยนิยมยั่งยืนดังกล่าว โดยเป้าหมาย เป็นการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชน การสร้างตลาดใหม่ การเชื่อมโยง OTOP กับการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และคนมีความสุข ตลอดจนสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ·อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า เป้าหมายชองไทยนิยม คือการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่สังคมไทยนิยมให้เพิ่มมากขึ้น เช่น วัฒนธรรม ประเพณี แหล่งท่องเที่ยว รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มาจากพื้นบ้านของไทย ก็เป็นสิ่งที่มีเอกลักษณ์เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งกระบวนของโครงการได้ผ่านความเห็นชอบของคนในชุมชนนั้น กล่าวคือ ทางรัฐบาลจะมีหน่วยงานที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความต้องการของประชาชน
“พอทราบความต้องการของประชาชน ทางเราจึงได้มีการสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่เปรียบเสมือนแอ่งเล็กๆ 3,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่ว 76 จังหวัด ทุกอำเภอมี 3-5 แห่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเล็กๆ ให้นักท่องเที่ยวสามารถมีทางเลือกในการท่องเที่ยวจากเมืองใหญ่ๆ โดยเมืองรองก็มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ก็มีความโดดเด่นไม่แพ้เมืองหลัก เพราะคนในชุมชนก็ยิ้มแย้มแจ่มใส อาหารอร่อยแปลกใหม่ อีกทั้งมีวัฒนธรรมที่แปลกตามากมาย นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าเมืองใหญ่ เช่นบางแห่งที่พักขึ้นหลักพัน แต่หากพักในหมู่บ้านเป็นโฮมสเตย์อาจจะมีราคาแค่หลักร้อยเท่านั้น” อธิบดีกรมการ
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนทั้ง 3,000 แอ่งเล็กให้มีประสิทธิภาพ ได้มอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ดำเนินตาม 5 กรอบหลัก คือ 1.เป็นเจ้าบ้านที่ดี 2.เชื่อมโยงการท่องเที่ยว 3.สร้างตลาดใหม่ 4.พัฒนาผลิตภัณฑ์ 5.การสร้างนวัตกรรมเข้ามาช่วยเสริม โดยจะเป็นการทำงานเชิงบูรนาการ ซึ่งมั่นใจว่าภายใน 4 เดือน จะยกระดับรายได้ชุมชนต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก 10%
สำหรับสาเหตุที่ใช้เวลาถึง 4 เดือนในการเพิ่มรายได้นั้น เพราะทั้ง 5 กรอบ ต้องใช้เวลาเป็นตัวกำหนดในการขับเคลื่อนกระบวนการ ถึงกระนั้นก็ถือเป็นโครงการระยะยาว ถ้าประเมินแล้วได้ผลดีจะทำต่อ โดยจะมีโครงการอื่นๆ มาเพิ่มเติมและจะผลักโครงการดังกล่าวเข้าสู่งบปกติของกรมการพัฒนาชุมชนต่อไป
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยต่อว่า เรื่องของนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้แม้แต่ในระดับชุมชน เพราะประเทสไทยกำลังเข้าสู่ยุค 4.0 ซึ่งการเพิ่มนวัตกรรมลงไปในชุมชนไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องคิดใหม่แล้วคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เดิม เช่น สินค้าโอทอป จากอดีตที่เคยใช้ถุงและหนังสติ๊กรัดธรรมดา ก็เปลี่ยนให้มีบรรจุภัณฑ์ ก็ถือเป็นนวัตกรรมแล้ว ถือเป็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมจาก 1.0 สู่ 2.0 ซึ่งการขับเคลื่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะเป็นการพัฒนาชุมชนอย่างมั่งคง มั่งคั่งและยั่งยืน
“จาก 1.0 ไป 4.0 ทันทีเลยไม่ได้ แต่เราสามารถค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปสู่จุดนั้นได้ เริ่มจากสิ่งง่ายอย่างสุขลักษณะ ที่เมื่อก่อนอาจจะนั่งทำกับพื้น ก็เปลี่ยนมาเป็นนั่งเก้าอี้ มีการใส่เอี๊ยมระหว่างทำอาหาร มีผ้าโพกหัว แค่นี้ก็ถือเป็นนวัตกรรมชุมชนแล้ว และสิ่งสำคัญคืออย่าทำแบบเดิมๆ เพราะนักท่องเที่ยวบางคนมองที่มาชุมชน บางครั้งก็มองเรื่องของสุขลักษณะ การที่ทำให้ถูกสุขลักษณะ นอกจากจะเป็นสร้างนวัตกรรมให้กับชุมชนแล้ว ยังเป็นการตอบโจทย์ยกระดับการท่องเที่ยวอีกด้วย” นายอภิชาติกล่าว
สำหรับการท่องเที่ยวและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การสร้างการรับรู้ให้เห็นภาพถึงโครงการ OTOP นวัตวิถีเป็นอย่างไรนั้น อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม 2561 จะมีการจัดสัมมนาในชุมชนเพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับรู้ และบอกถึงแก่นสารของโครงการ OTOP นวัตวิถี นอกจากนี้ ก็มีการบอกถึงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์โอทอป พร้อมกระตุ้นรณรงค์กลุ่มเป้าหมายเดินทางท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และติดตามประเมินผล การให้คำแนะนำและแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้เป็นไปตามตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย
โดยการสัมมนานี้จะเป็นการร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังปัญหาอุปสรรคจากส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขภายใต้อำนาจหน้าที่ พร้อมขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืนของรัฐบาล ซึ่งการขับเคลื่อนเป็นการการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เป้าหมายคือลงพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อร่วมดำเนินโครงการให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ในการร่วมกันพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาของสังคม โดยผ่านการสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ก่อนจะเปิดให้ประชาชนได้สอบถามข้อสงสัยและเสนอแนะ
ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อพูดคุยในเรื่องของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามสร้างการรับรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอป โดยการพัฒนาผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมช่องทางการตลาด อีกแง่หนึ่งจะดำเนินการอย่างไร ที่จะเชื่อมโยงโอทอปกับการท่องเที่ยว โดยเรามีสินค้าโอทอป มากมายอยู่ในพื้นที่ ก็อยากจะดึงคนที่เป็นนักท่องเที่ยวให้ลงไปเที่ยวในพื้นที่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนจะได้เกิดรายได้จากการจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ในชุมชนต่างๆ ขายอาหาร หรือทำกิจกรรมจากการท่องเที่ยว มาพัก และอื่นๆ ซึ่งถ้าทำในลักษณะนี้จะทำให้รายได้เกิดขึ้นในชุมชนจำนวนมาก