วันนี้ (8 สิงหาคม 2561) เวลา 08.50 น. ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี (เขื่อนเพชร) อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะประกอบด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติตรวจเยี่ยมติดตามการบริหารจัดการน้ำที่มาจากเขื่อนแก่งกระจานและสถานการณ์น้ำจังหวัดในภาพรวมจังหวัดเพชรบุรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ผู้บริหารส่วนราชการ และประชาชนให้การต้อนรับ
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำว่า จากสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องทำให้ยังคงมีปริมาณน้ำหลากไหลลงเขื่อนแก่งกระจาน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลล้นทางระบายน้ำสูง 33 เซนติเมตรลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจาน จะมีปริมาณน้ำล้น spill way สูงสุดในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ โดยมีความสูงเหนือ spill way ประมาณ 0.65 ม. มีอัตราการไหล 106 ลบ.ม. ต่อวินาที มีปริมาณน้ำไหลผ่าน river outlet + เครื่องสูบน้ำ + กาลักน้ำ รวม 110 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณน้ำไหลล้นข้าม spill way จะทำให้มีปริมาณน้ำผ่านท้ายเขื่อนแก่งกระจานสูงสุด 224 ลบ.ม. ต่อวินาที
ในส่วนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนเพชร คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลรวมหน้าเขื่อนเพชรสูงสุดปริมาณ 230 - 250 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยจะทำการหน่วงน้ำหน้าเขื่อนและตัดระบบชลประทานฝั่งซ้าย - ฝั่งขวา รวม 55 ลบ.ม. ต่อวินาที และผันน้ำเข้าคลองระบายน้ำ D9 อัตรา 35 ลบ.ม. ต่อวินาที รวม 90 ลบ.ม. ต่อวินาที พร้อมทั้งระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเพชรในอัตรา 140 - 160 ลบ.ม. ต่อวินาที จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด โดยไม่มีผลกระทบ และเมื่อไหลผ่านเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีจะทำให้มีน้ำเอ่อท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งและพื้นที่ชุมชน สูงเฉลี่ยประมาณ 30 - 50 เซนติเมตร ระยะเวลาท่วมขังไม่เกิน 10 วัน หากไม่มีปัจจัยอื่น ๆ มาเสริม
ส่วนการเตรียมการช่วยเหลือและเร่งระบายน้ำในพื้นที่ จะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่และชุมชน จำนวน 31 เครื่อง พร้อมกับติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า จำนวน 38 เครื่อง และเตรียมพร้อมยานพาหนะและเครื่องจักรกล เช่น รถขุดตัก จำนวน 20 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำ ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง พื้นที่จังหวัดเพชรบุรีที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำเพชรบุรีตั้งแต่พื้นที่ท้ายเขื่อนแก่งกระจานจนถึงเขื่อนเพชรแล้ว
ภายหลังรับฟังการบรรยายสรุป นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายว่า ขอให้ส่วนราชการ หน่วยงานในท้องถิ่นทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงถึงสถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือนเพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ ทั้งนี้ ต้องเตรียมมาตรการให้พร้อมไม่ว่าจะเป็นแผนการอพยพ และการบริหารจัดการน้ำ พร้อมกับขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าว ขอให้นำเสนอสถานการณ์น้ำตามข้อเท็จจริง อย่านำเสนอข่าวเกินความเป็นจริงเพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล พร้อมกล่าวยืนยันว่ารัฐบาลและส่วนราชการมีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ รวมถึงแผนการอพยพประชาชนและสัตว์เลี้ยงออกจากพื้นที่เสี่ยง ในส่วนของรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาว สำหรับโครงการขนาดเล็กขอให้คำนึงถึงประโยชน์และความคุ้มค่า รวมถึงทันต่อการใช้งานเป็นหลัก ในการดำเนินการ อย่าใช้งบประมาณในการดำเนินการสูงเกินไป แต่เบื้องต้นขอให้ช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวชื่นชมการทำงานในการแก้ไขปัญหาของส่วนราชการทั้งในส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่ พร้อมกับฝากให้เปิดเผยข้อเท็จจริงสถานการณ์น้ำ รวมถึงสภาวะการณ์ และแนวโน้มในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริง ให้มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ รวมถึงไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป และกำชับให้เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นลงพื้นที่ดูสถานการณ์จริง ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที
จากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เดินไปบริเวณสันเขื่อนเพชรเพื่อดูการระบายน้ำ ก่อนเดินทางต่อไปยังประตูระบายน้ำคลอง D9 ตำบลปึกเตียน อำเภอท่ายาง เพื่อตรวจเยี่ยมการขยายคลองชลประทาน