โดยเมื่อเร็ว นี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดแนวทางการแก้หนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยอมรับต้องใช้เวลาทำรายละเอียดมาก คาดจะเสนอได้ประมาณสิ้นเดือน ส.ค. โดยจะเสนออนุมัติกรอบวงเงินปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท จากมูลหนี้ 1.02 หมื่นล้านบาท เกษตรกร 3.6 หมื่นราย
สำหรับระยะเวลาพักหนี้เงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเป็นไปตามแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่กำหนดให้ตัดหนี้เงินต้น 50% และพักดอกเบี้ย ขณะที่เกษตรกรที่เป็นหนี้สงสัยจะสูญ (เอ็นพีแอล) ให้ลงทะเบียนใหม่ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ที่จังหวัดตั้งแต่ 15 ส.ค. 2561 ระยะเวลา 60 วัน เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้เชิญตัวแทนสถาบันการเงิน สถาบันเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เพื่อเจรจาขอให้ชะลอบังคับคดีแก่สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ทุกกรณี โดยขอให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท รับซื้อหนี้จากเกษตรกรอีก 1,500 ราย ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกร ปี 2561 อยู่ระหว่างการหารือรายละเอียดกับ 2 บริษัทข้างต้น เบื้องต้นเอกชนทั้งสองแห่งยินดีรับซื้อหนี้ในอัตรา 50% แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่มีสิทธิ ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนหนี้ต้องมีคุณสมบัติ คือ 1.เป็นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด 2.เป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกร 3.มีหนี้ที่เกิดจากการทำเกษตรกรรม 4.เป็นหนี้ในระบบตามที่กฎหมายกำหนด หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินประเภทธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือนิติบุคล และหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันเกษตรกร โดยเปิดให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.-13 ต.ค. 2561