นางสาวกัญญวิมว์ กีรติกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า โครงการ“ยุทธการปราบแมลงวันทองด้วยตรอกนองโมเดล” เป็นการนำต้นแบบความสำเร็จการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ทำหมันแมลงวันผลไม้จากตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ขยายพื้นที่เป้าหมายต่อยอดไปทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มผลิตพืชและผลไม้ส่งออกสำคัญของประเทศ แต่ลดการใช้สารเคมีและแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเมื่อ ปี 2560 ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกผลไม้มากกว่า 40,000 ล้ านบาท แต่ทว่าเกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญ คือการจัดการศัตรูพืชที่มารบกวนผลผลิต ซึ่งแมลงวันผลไม้จัดเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ นอกจากจะทำให้ผลไม้เน่าเสียแล้วยังมีผลต่อคุณภาพการส่งออกผลไม้ หลายครั้งที่ผลผลิตถูกห้ามนำเข้าและต้องทำลายทิ้ง ด้านเกษตรกรมีวิธีการควบคุมกำจัดแมลงชนิดนี้หลายวิธี ส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงวันผลไม้ ซึ่งไม่ค่อยได้ผลมากนัก เป็นอันตรายและทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลให้สารเคมีตกค้าง ซึ่งเป็นปัญหาทางตรงและทางอ้อมต่อ สุขอนามัยของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสทน.จึงได้ศึกษาวิจัยและดำเนินการนำวิธีการทำหมันแมลงมาใช้กับการควบคุมกำจัดแมลงวันผลไม้แบบพื้นที่กว้างโดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน ซึ่งเริ่มต้นที่พื้นที่ปลูกผลไม้ของตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นแห่งแรกก่อนที่จะพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผสมผสานกับวิธีการอื่น จนประสบความสำเร็จ สามารถลดจำนวนประชากรแมลงศัตรูพืช ผลผลิตผลไม้จากตรอกนองมีคุณภาพ ปลอดภัยตามมาตรฐานการส่งออก ได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับโครงการ “ยุทธการปราบแมลงวันทองด้วยตรอกนองโมเดล” ได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ปฏิบัติงานใน 10 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ตราด ชุมพร นครศรีธรรมราช พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ขอนแก่นและราชบุรี เริ่มจากปีงบประมาณ 2561-2570 รวม ระยะเวลา 10 ปี
สทน.จะนำต้นแบบความสำเร็จจากตรอกนองโมเดล มาบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างเขตประชากรแมลงวันผลไม้ต่ำที่สามารถได้รับการรับรองพื้นที่โดยกรมวิชาการเกษตร สร้างระบบควบคุมกำจัดแมลงศัตรูทางกักกันพืชอื่นของผลไม้และผลิตไม้ผลคุณภาพ ปลอดภัยตามมาตรการสุขอนามัยพืช และได้รับการรับรองโดยหน่วยงานทางกักกันพืชให้สำเร็จทั้ง 10 พื้นที่เป้าหมาย และขยายผลไปทั่วประเทศต่อไป
ดร.พรเทพ นิศามณีพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สทน. ได้ศึกษาวิจัยและนำวิธีการฉายรังสีทำหมันแมลงมาใช้กับการควบคุมกำจัดแมลงวันผลไม้แบบพื้นที่กว้าง โดยมีเทคนิคใช้แมลงวันที่ฉายรังสีจนมีสภาพเป็นหมัน โดยแมลงวันที่เป็นหมันจะไปผสมพันธุ์กับแมลงวันทองในพื้นที่สวนผลไม้เกษตรกร ทำให้ไม่เกิดประชากรแมลงวันทองขึ้นมาใหม่สามารถลดจำนวนแมลงวันทองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย ผลไม้ของตรอกนองยังได้รับการตรวจสอบคุณภาพได้มาตรฐานการส่งออก และเปิดตลาดส่งออกมังคุดไปประเทศสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มสร้างรายได้กว่า 4,800 ล้านบาทต่อปี ลดรายจ่ายจากสารเคมีได้กว่า 158,000 บาทต่อปี