กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการไทยนิยมฯ ทั่วประเทศ เบิกจ่ายงบไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาท เร่งจัดจ้างแรงงาน ส่งเสริมการใช้ยางพารา ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำชลประทาน ย้ำทุกขั้นตอนโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์ให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การเดินหน้าโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกรมชลประทาน ที่อยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง 3 กรอบ ได้แก่ 1. คนไทยไม่ทิ้งกัน 2. ชุมชนอยู่ดีมีสุข และ 3. รู้กลไกการบริหารราชการ แบ่งเป็น 3 โครงการ/ 4 เมนู คือ 1. โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้แก่เกษตรกร (คนไทยไม่ทิ้งกัน) เมนูจ้างแรงงานสร้างรายได้ 2. โครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ (ชุมชนอยู่ดีมีสุข) เมนูการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ 3. โครงการพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน(รู้กลไกการบริหารราชการ)มี 2 เมนูคือ เมนูพัฒนาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเมนูพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำชลประทาน เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง โดยได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 13,701.985 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 2,074 แห่ง/2,088 รายการ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
สำหรับผลการดำเนินงานและการเบิกจ่ายโครงการไทยนิยม ยั่งยืนของกรมชลประทาน ล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 7 ก.ย. 61) ทั้ง 3 โครงการ/4 เมนู รวม 2,088 รายการ ได้ทำการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 3,102.35 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22.65 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 448 รายการ แล้วเสร็จรอเบิกจ่าย จำนวน 61 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างแล้ว 1,227 รายการ ลงนามในสัญญาแล้ว จำนวน 138 รายการ และอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้าง จำนวน 214 รายการ ซึ่งแต่ละโครงการมีรายละเอียดดังนี้
โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้แก่เกษตรกร จำนวน 172 แห่ง/รายการ เป้าหมาย 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร งบประมาณ 187.5545 ล้านบาท สามารถจัดจ้างแรงงานได้ 7,520 คน โดยได้ทำการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 133.97 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 71.43 สามารถจัดจ้างแรงงานไปแล้ว 9,051 คน หรือร้อยละ 120.36 ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14,802 บาทต่อคน ทั้งนี้ โครงการจ้างแรงงานชลประทานฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 38 รายการ ดำเนินการแล้วเสร็จรอเบิกจ่าย จำนวน 5 รายการ อยู่ระหว่างซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบชลประทาน จำนวน 120 รายการ ลงนามในสัญญาจ้างแรงงาน จำนวน 2 รายการ และอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกจำนวน 7 รายการ
โครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 317 แห่ง/รายการ เป้าหมาย 53 จังหวัด งบประมาณ 3,548.0209 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ 239,501 ครัวเรือน ปริมาณการใช้ยางพารา 3,509.50 ตัน โดยแยกประเภทการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม ประกอบด้วย การใช้เป็นส่วนผสมเฉพาะชั้นผิวทาง Para Asphaltic Concrete จำนวน 284 รายการ และงานถนนซีเมนต์ผสมยางพารา Para Soil Cement จำนวน 33 รายการ ระยะทางรวม 999.65 กิโลเมตร ซึ่งมีการใช้ยางพาราไปแล้วปริมาณ 107.17 ตัน ระยะทาง 14.812 กิโลเมตร โดยได้ทำการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 73 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.06 งานแล้วเสร็จรอเบิกจ่าย จำนวน 3 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างแล้ว จำนวน 151 รายการ ลงนามในสัญญาแล้ว จำนวน 90 รายการ และอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกจำนวน 73 รายการ
โครงการพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน จำนวน 1,585 แห่ง/ 1,599 รายการ เป้าหมาย 71 จังหวัด งบประมาณ 9,966.4096 ล้านบาท ได้ทำการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 2,895.38 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 29.05 เป้าหมายเพื่อพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น จำนวน 17,960 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 2,142,961 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ 361,704 ครัวเรือน ความจุเก็บกักเพิ่มขึ้น 14.09 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งประกอบด้วย 2 เมนู คือ 1. การพัฒนาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 300 แห่ง/รายการ เป้าหมาย 30 จังหวัด งบประมาณ 699.5056 ล้านบาท โดยได้ทำการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 166.16 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.75 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 48 รายการ งานแล้วเสร็จรอเบิกจ่าย จำนวน 3 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 167 รายการ ลงนามในสัญญาแล้ว จำนวน 6 รายการ และอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกจำนวน 76 รายการ และ 2. การพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำชลประทานเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง จำนวน 1,285 แห่ง/1,299 รายการ เป้าหมาย 68 จังหวัด งบประมาณ 9,266.904 ล้านบาท โดยมีการดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงและก่อสร้างโครงการชลประทาน ซึ่งได้ทำการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 2,729.23 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 29.45 โดยดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 362 รายการ (เป็นค่าซื้อที่ดิน 4 รายการ 518.3625 ล้านบาท) ดำเนินการก่อสร้างแล้วรอเบิกจ่าย 50 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 789 รายการ ลงนามในสัญญาแล้ว จำนวน 40 รายการ และอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกจำนวน 58 รายการ
สรุปความคืบหน้าโครงการไทยนิยม ยั่งยืนของกรมชลประทาน โดยผลสัมฤทธิ์ ณ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ก.ย. 61) มีพื้นที่ได้รับประโยชน์แล้ว จำนวน 508,240 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ จำนวน 94,845 ครัวเรือน ทั้งนี้ เมื่อการดำเนินโครงการแล้วเสร็จตามกรอบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้รวม 17,960 ไร่ ความจุเก็บกักเพิ่มขึ้น 14.09 ล้านลูกบาศก์เมตร ราษฎรและเกษตรกรได้รับประโยชน์ รวม 601,205 ครัวเรือน และเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส กรมชลประทานได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบทุกขั้นตอน ภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ” รวมทั้งมีการรายงานผลการดำเนินงานให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างละเอียด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม สร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง