กฟผ. เผยการดำเนินงานของ กฟผ. ในปี 2558 ต่อเนื่องปี 2559 มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเดินหน้าตามแผนปรับปรุงและขยายระบบส่งเพื่อสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าและรองรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนากำลังผลิตของประเทศ
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2558 ว่า ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในระบบของ กฟผ. อยู่ที่ 27,346 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.5 การใช้พลังงานไฟฟ้าในปี 2558 การผลิตและซื้อพลังงานไฟฟ้ารวม 182,446 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 มีสัดส่วนการผลิตพลังงานจากก๊าซธรรมชาติร้อยละ 69 ถ่านหินร้อยละ 20 พลังน้ำร้อยละ 8 พลังงานทดแทนร้อยละ 2.4 และอื่นๆ ร้อยละ 0.6
การใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตั้งแต่ประมาณกลางปี 2558 ชี้ให้เห็นทิศทางเศรษฐกิจและการใช้พลังงานที่เริ่มฟื้นตัว และผลจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ประกอบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำลดลงจากปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยมาก ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในปี 2558 ปรับลดลงได้เพียง 22.62 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เชื้อเพลิงเป็นปัจจัยสำคัญต่อราคาค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานยังได้ประกาศปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมา โดยปรับลดค่าไฟฟ้าลงอีก 1.05 สตางค์ต่อหน่วย
สำหรับการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าปี 2559 ตามการพยากรณ์ทางเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดว่า GDP จะขยายตัวร้อยละ 3.7 ทำให้ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 28,470 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 และความต้องการพลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวถึงเป้าหมายการดำเนินการในปี 2559 ว่า จะมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 กำหนดจ่ายไฟฟ้าในเดือนมกราคม 2559 โรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา ประเทศลาว เครื่องที่ 3 เดือนมีนาคม 2559 ปลดโรงไฟฟ้าขนอม 748 เมกะวัตต์ ออกจากระบบ และนำเข้าโรงไฟฟ้าขนอมใหม่ เดือนมิถุนายน 2559 และยังมีโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ซึ่งใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้ กฟผ. มีการลงทุนขยายกำลังผลิตและระบบส่งของ กฟผ. ช่วง 5 ปี คือ ปี 2559 -2563 กำหนดไว้ที่ 668,276 ล้านบาท อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ทดแทนหน่วย 4-7 โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โครงการโรงไฟฟ้าเทพา 1 และ 2 และโครงการระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าใหม่ และโรงไฟฟ้าหมุนเวียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการพัฒนากำลังผลิตของ กฟผ. ได้ออกแบบโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมการปล่อยมลภาวะเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชน