กฟผ. เดินหน้าขยายระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้า เร่งสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าวังน้อย โรงไฟฟ้าบางปะกง โครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ หวังสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้ารองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของประเทศไทย
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน กฟผ. กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 กำหนดให้มีการส่งเสริมการลงทุนและยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง กฟผ. จึงได้พัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 1 – 2 โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าบางปะกงเครื่องที่ 1 – 2 โครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบ และการสร้างความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวด้วยโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (FSRU : Floating Storage and Regasification Unit) ทำให้สามารถเชื่อมั่นได้ว่าในพื้นที่ภาคตะวันออกจะมีความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งปัจจุบันและในอนาคตต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
นายมนัส ตั๊นงาม รองประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นการพัฒนาตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และนวัตกรรมที่มีความทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดที่ตั้งของเมืองใหม่จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ เมืองใหม่ฉะเชิงเทรา เมืองใหม่ระยอง เมืองใหม่พัทยา และเมืองใหม่อู่ตะเภา เพื่อรองรับประชากรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมจำนวน 5 เท่า ในระยะเวลา 10 ปี การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาไปสู่เป้าหมายอย่างยั่งยืน ดังนั้นระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชน และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ด้าน ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้จัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจาก 5 กลุ่มโครงการหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เมืองใหม่และชุมชน และเขตนวัตกรรมและ Digital Park โดยคาดว่าในปี 2579 จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว อยู่ที่ประมาณ 9,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) จึงกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าใหม่จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) 2 แห่ง และโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP-cogen) ซึ่งจะมีกำลังการผลิตเพียงพอรองรับการเจริญเติบโตของพื้นที่เศรษฐกิจ และสามารถส่งไฟฟ้ามายังกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย