ทย.เปิดแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาคครอบคลุม 20 ปี ลุยเฟสแรก 10 ปี 25 โครงการทั่วทุกภาค ด้วยเงินลงทุน 3.4 หมื่นล้านบาท ยกระดับเป็นสนามบินนานชาติ พร้อมเล็งดึง 4 โครงการลง PPP เพื่อประหยัดงบ
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน " Airports For All : กรมท่าอากาศยาน มุ่งมั่น ก้าวไกล เพื่อไทยทุกคน" เมื่อไม่นานมานี้ว่า กรมท่าอากาศยาน (ทย.) มีแผนการพัฒนาระยะ 20 ปี (2561 – 2570) ของท่าอากาศยาน 28 แห่ง และท่าอากาศยานเบตง ที่อยู่ในความรับผิดชอบ วงเงินประมาณ 34,507 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้นและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่การพัฒนาสนามบินหลัก 3 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของบมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา เพื่อรองรับผู้โดยสารรวมที่ 120 ล้านคนต่อปี
ส่วนสนามบินภูมิภาค 28 แห่ง มีเป้าหมายพัฒนาเพื่อรองรับผู้โดยสารรวมที่ 58 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันมี 30 ล้านคน โดยประเมินจากอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 6.6 %ต่อปี นอกจากนี้ จะต้องยกระดับสนามบินภูมิภาค หรือสนามบินเมืองรอง ให้เป็นสนามบินนานาชาติอีกด้วย
สำหรับแผนนี้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วง 10 ปีแรก (2561-2570) และช่วง 10 ปีหลัง (2571-2580) ช่วง 10 ปีแรกนั้นได้จัดสรรงบประมาณลงทุนรวม 34,507 ล้านบาท ส่วนช่วง 10 ปีหลัง ทย.อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนาพื้นที่ต่อไป
ช่วง 10 ปีแรกนั้นได้รับจัดสรรงบประมาณลงทุนรวม 34,507 ล้านบาท แบ่งเป็นพัฒนาในช่วงระยะที่ 1(2561-2565) จำนวน 27,248 ล้านบาท ปรับปรุงท่าอากาศยาน 17 โครงการ ได้เแก่ 1. ภาคเหนือ 2,529 ล้านบาท (ลำปาง, แพร่, แม่สอด จ.ตาก) 2. ภาคอีสาน 4,692 ล้านบาท (เลย, สกลนคร, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด, ขอนแก่น, บุรีรัมย์) และ 3. ภาคใต้ 20,027 ล้านบาท (อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, กระบี่, ตรัง, นราธิวาส และเบตง จ.ยะลา)
และระยะที่ 2 (2566-2570) จำนวน 7,259 ล้านบาท ปรับปรุงท่าอากาศยาน 8 โครงการ ได้แก่ ภาคเหนือ 732 ล้านบาท (ปาย,แพร่) , ภาคอีสาน 5,158 ล้านบาท (สกลนคร, เลย, อุดรธานี, อุบลราชธานี,ร้อยเอ็ด) และภาคใต้ 1,369 ล้านบาท (สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช)
ส่วนการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในการพัฒนาสนามบินของกรมท่าอากาศยาน จะต้องเลือกสนามบินที่น่าสนใจจูงใจเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุน เป็นการช่วยลดการลงทุนในส่วนของภาครัฐลง ซึ่งจะทำให้การบริหารและพัฒนาสนามบินของไทยจะมีทั้งที่รัฐลงทุนคือ สนามบิน 24 แห่งของ ทย. ของรัฐวิสาหกิจ คือ ทอท. 6 แห่ง บวกกับโอนจาก ทย.อีก 4 แห่ง และสนามบินอู่ตะเภาที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน จะมีความหลากหลายเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี และเป็นทางเลือกในการเดินทาง
อย่างไรก็ตาม สนามบินภูมิภาคในความรับผิดชอบของ ทย.นั้น มีการคิดอัตราค่าจอดเครื่องบินและลดค่าใช้สนามบินลง (Landing & Parking) ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (Passenger Service Charge : PSC) ที่ถูกกว่าทอท. ดังนั้น 4 สนามบินที่โอนให้ ทอท. จะมีการพัฒนาและบริหารภายใต้แนวทางของ ทอท. ซึ่งจะมีการคิดค่าธรรมเนียมและบริการเหมือนสนามบินของ ทอท. ซึ่งจะสอดคล้องกับการยกระดับบริการ
โดยนอกจากจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกภายในท่าอากาศยานแล้ว กรมท่าอากาศยานยังให้ความสำคัญกับชุมชน โดยมีการจัดสรรพื้นที่เช่าภายในท่าอากาศยาน ให้สินค้าท้องถิ่นหรือวิสาหกิจชุมชนสามารถใช้ถพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 30 ของพื้นที่เช่าทั้งหมด นอกจากนี้ ยังยกระดับสู่การเป็นสนามบินศุลกากร โดยติดตั้งระบบ C.I.Q. (Customers Immigration Quarantine) เพื่อให้ผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่ต้องผ่านการเดินทางหลายสนามบิน สามารถเช็คอินสัมภาระและสินค้าต่างๆ จากต้นทางสู่ปลายทางเพียงครั้งเดียวได้เลย และยังมีการเปิดพื้นที่ท่าอากาศยานให้เป็นฐานฝึกให้โรงเรียนการบิน เพื่อผลิตบุคลากรทางการบินที่มีศักยภาพ และเพียงพอตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคในอนาคตด้วย
สำหรับการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพีพีพี (PPP) ในเบื้องต้นมีสนามบิน 4 แห่ง ได้แก่ สนามบินเพชรบูรณ์ สนามบินนครราชสีมา สนามบินบุรีรัมย์ และ สนามบินหัวหิน ซึ่งแหล่งข่าว จาก ทย. เปิดเผยว่า ขณะนี้ทย.อยู่ระหว่างเสนอแนวทางพีพีพีสนามบินให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบ เพื่อศึกษาแนวทางต่อไปว่าจะใช้ PPP Net Cost หรือ PPP Gross Cost
ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ภายในปี 2562 สำหรับแนวทางพัฒนาสนามบินทั้ง 4 แห่งนั้นวงเงินลงทุนราว 8.5 พันล้านบาท เริ่มจากสนามบินหัวหิน วงเงินลงทุน 3.5 พันล้านบาทงานขยายอาคารและก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ให้รองรับปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10เท่า เป็น 3 ล้านคนต่อปี รวมถึงขยายความกว้างของทางวิ่ง(รันเวย์) และขยายลานจอดเครื่องบินเพิ่มเติมเพื่อรองรับการท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันตก(ไทยแลนด์ริเวียร่า) สนามบินบุรีรัมย์ วงเงินลงทุน 3 พันล้านบาทแบ่งเป็นงานขยายรันเวย์ 2 พันล้านบาทและงานขยายอาคารรวมถึงงานติดตั้งระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานการบินสากลเพื่อให้สอดรับกับการเลื่อนชั้นเป็นสนามบินนานาชาติ(International Airport) รองรับนโยบายเมืองท่องเที่ยวกีฬาภาคอีสาน
ขณะที่สนามบินนครราชสีมา วงเงินลงทุน 2 พันล้านบาท มีศักยภาพด้านพื้นที่เหมาะแก่การพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน(MRO)ของเครื่องบินขนาดเล็กรวมถึงอุตสาหกรรมอะไหล่การบินเชื่อมต่อการขนส่งไปสู่พื้นที่อีอีซี เนื่องจากปัจจุบันในประเทศยังไม่มีโรงซ่อมเครื่องบินขนาดเล็กอย่าง ATR737 เพื่อรองรับดีมานต์ของสายการบินต้นทุนต่ำจำนวนมากในอาเซียนทั้งยังสามารถแบ่งสัดส่วนตลาดจากอินโดนีเซียและสิงคโปร์ได้อีกด้วยเพราะเป็นเพียงสองชาติในอาเซียนที่มีโรงซ่อมแบบนี้ 4.สนามบินเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ราว 5,000 ไร่สามารถเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวสวยงามได้เหมาะแก่การพัฒนาเป็น Tourist Airport รับท่องเที่ยวเมืองรอง เช่น การพัฒนาเป็นสนามกอล์ฟดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับสูงเข้ามาในพื้นที่เป็นต้น
”การเปิดพีพีพีสนามบินเป็นการลงทุนแบบซัพพลายไซด์เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารในอนาคตที่จะเติบโตขึ้นอีกมาก นอกจากนี้ เอกชนยังเก่งเรื่องทำการตลาดและแสวงหาดีมานต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐบาลไม่เชี่ยวชาญ” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ ผลการศึกษาแนวทางการพีพีพีสนามบินของ ทย.นั้นพบว่า ระยะเวลาสัมปทานที่มีความเหมาะสมจะต้องมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ซึ่งหากสนามบินใดมีเที่ยวบินน้อย จะได้สัมปทานที่ยาวนานมากขึ้น โดยเอกชนจะเป็นผู้เข้ามาลงเม็ดเงินและบริหารสนามบินทั้งหมด พร้อมแบ่งสัดส่วนรายได้ให้ภาครัฐตามที่ตกลงกัน ขณะที่ ทย.จะเป็นผู้กำกับดูแลมาตรฐานบริการและอำนวยความสะดวกให้กับเอกชนและประชาชนผู้ใช้บริการ