สศก.ระบุ ผลพยากรณ์หอมหัวใหญ่ ปี’ 62 คาดเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 10,354 ไร่ ลดลงจากปี’ 61 เล็กน้อย ร้อยละ 0.73 ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 37,072 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.64 ส่วนผลผลิตต่อเนื้อที่เพาะปลูกอยู่ที่ 3,580 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.36 เนื่องจากสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น ไม่มีโรคแมลงรบกวน ส่งผลให้ผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์หอมหัวใหญ่ ปี 2562 โดยผลพยากรณ์ (ข้อมูล ณ 20 กันยายน 2561) คาดว่า ปี 2562 เนื้อที่เพาะปลูกหอมหัวใหญ่ รวมทั้งประเทศ 10,354 ไร่ ลดลง จากปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 10,430 ไร่ (ลดลงร้อยละ 0.73)ผลผลิต รวมทั้งประเทศ 37,072 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 36,838 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.64) ผลผลิตต่อเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 3,580 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3,532 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.36)
สำหรับเนื้อที่เพาะปลูกหอมหัวใหญ่ในปี 2562 คาดว่าเนื้อที่ลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากราคาหอมหัวใหญ่เบอร์ 1 ที่เกษตรกรขายได้ ในปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 9.46 บาทเมื่อเทียบกับปี 2560 ราคาลดลงร้อยละ 34.40 ซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 14.42 บาท จึงไม่จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มเนื้อที่เพาะปลูก ส่วนผลผลิตต่อไร่ คาดว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว หากสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น ไม่มีโรค และแมลงรบกวน เอื้ออำนวยต่อการผลิต ส่งผลให้ผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 รัฐบาลได้เตรียมพร้อมสำหรับมาตรการบริหารจัดการสินค้าหอมหัวใหญ่ โดยจะยังคงเดินหน้าโดยใช้ขบวนการสหกรณ์บริหารจัดการสินค้าโดยจัดหาเมล็ดพันธุ์จำนวน 3.15 ตัน เพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรสมาชิกภายใต้เงื่อนไขตามกรอบ WTO สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ เพื่อช่วยเร่งระบายผลผลิตผ่านเครือข่ายสหกรณ์ รวมถึงชะลอการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก (มกราคม – มีนาคม 2562)โดยทางกรมศุลกากรได้กำหนดมาตรการเข้มงวดในการปราบปรามการลักลอบนาเข้าหอมหัวใหญ่จากต่างประเทศ และประเมินราคาเพื่อเสียภาษีนำเข้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันปัญหาการนำเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่นอกโควตาสายพันธุ์อื่นเข้ามาปลูกปะปนจนส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตที่จะส่งออกไปตลาดต่างประเทศ จึงกำหนดแนวทางป้องกันโดยให้สหกรณ์จัดทำฐานข้อมูลสมาชิกทุกรายที่ได้รับการจัดสรรโควตาเมล็ดพันธุ์ว่าได้รับพันธุ์วันที่เท่าไร รวมทั้งเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเมื่อใด (ควรไม่น้อยกว่า 80 วัน) เพื่อป้องกันการส่งออกหอมหัวใหญ่ไม่มีคุณภาพไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ มอบให้กรมวิชาการเกษตรสุ่มตรวจแปลงหอมหัวใหญ่ของเกษตรกรสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปว่า มีการนำเมล็ดพันธุ์นอกโควตาเข้ามาเพาะปลูกในพื้นที่หรือไม่ รวมทั้งมอบให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ จัดทำโครงการนำร่องเกี่ยวกับการจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) หอมหัวใหญ่ที่ผลิตในอำเภอแม่วางและสันป่าตอง เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตหอมหัวใหญ่เพื่อการส่งออกที่สำคัญของไทยไปตลาดประเทศญี่ปุ่น