“บิ๊กฉัตร” สั่งทุกหน่วยสแกนพื้นที่แล้งใน-นอกเขตชลประทาน คาดกินพื้นที่ 23 จว. 2.49 ล้านไร่ งัดมาตรการเข้มจัดสรรน้ำ 35 เขื่อนใหญ่ ตั้งเป้าปี’61 ไม่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งต่อเนื่องเป็นปีที่สอง พร้อมวอนเกษตรกรพื้นที่ 6 เขื่อนน้ำน้อยงดนาปรัง หลังประเมินน้ำไม่เพียงพอสนับสนุน
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำว่า การประชุมครั้งนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงมหาดไทย โดย กรมชลประทาน กรมฝนหลวงฯ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และ กรมปศุสัตว์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรน้ำ และ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ กระทรวงกลาโหม โดย บก.ทท. และ ทบ. เพื่อเตรียมการสำหรับฤดูแล้งปี 2561-2562 ซึ่งที่ผ่านมามีความแปรปรวนของสภาพอากาศ บางพื้นที่ฝนตกมาก และ บางพื้นที่ฝนไม่ตกเลย ทำให้เกิดน้ำแล้งบางพื้นที่ จึงต้องเตรียมการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังรับทราบผลการดำเนินการแก้ไขน้ำท่วม โดย ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว แต่ยังคงต้องติดตามในส่วนพื้นที่ภาคใต้ที่ ซึ่งจากการคาดหมายปริมาณฝนในเดือนพฤศจิกายนเปรียบเทียบกับค่าปกติ โดย กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. พบว่า ทุกภาคของประเทศปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 – 20 % ยกเว้นภาคใต้ที่ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ
สำหรับสถานการณ์น้ำในปี 2561 พบว่า เขื่อนที่มีผลกระทบต่อระบบการบริหารจัดการ คือ เขื่อนหลัก 35 เขื่อน ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่าเขื่อนขนาดกลางและขนาดเล็กรวมกันมาก ปัจจุบัน 35 เขื่อนหลัก มีน้ำ 57,343 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุ ถือว่ามีน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าทุกปี แต่การกระจายตัวของน้ำ เป็นไปตามลักษณะการกระจายตัวของฝน โดยเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 มี 16 เขื่อน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่งัด เขื่อนกิ่วลม และ เขื่อนกิ่วคอหมา ภาคอีสาน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง และ เขื่อนน้ำอูน ภาคตะวันตก 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ และ เขื่อนวชิราลงกรณ ภาคตะวันออก 5 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนหนองปลาไหล เขื่อนคลองสียัด เขื่อนขุนด่านฯ เขื่อนประแสร์ และ เขื่อนนฤบดินทรฯ ภาคใต้ 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และ รัชชประภา
ขณะที่เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 มี 6 เขื่อน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่กวง และ เขื่อนแม่มอก ภาคอีสาน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ และ เขื่อนลำนางรอง ภาคกลาง 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนกระเสียว และ เขื่อนทับเสลา ซึ่งฝนที่ตกในช่วง 20 - 24 ต.ค. 61 พบว่า มีน้ำไหลเข้า 35 เขื่อนหลัก รวม 900 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่การระบายออกเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร รวม 351 ล้าน ลบ.ม. สามารถบรรเทาพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานได้มาก ดังนั้น ในเขตชลประทาน การบริหารจัดการน้ำ 7 เขื่อนหลักที่น้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 พบว่า น้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และ การเกษตรต่อเนื่อง มีเพียงพอ โดยสามารถสนับสนุนพื้นที่การเกษตรต่อเนื่องได้ 138,946 ไร่ แต่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำทำนาปรังที่เคยปลูกในฤดูแล้งปี 2560-2561 พื้นที่ประมาณ 4 แสน – 6 แสนไร่ ซึ่งพื้นที่การเกษตรที่ได้ผลกระทบมาก ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนทับเสลา และ เขื่อนกระเสียว ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน น้ำอุปโภคบริโภค มีเพียงพอ ไม่มีความเสี่ยงจากภัยแล้งเช่นกัน ขณะที่น้ำเพื่อการเกษตร ซึ่ง GISTDA ได้ทำการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 35 จังหวัด 215 อำเภอ 653 ตำบล ทำให้ตัวเลขการคาดการณ์ ปี 2561-2562 พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 2.49 ล้านไร่ใน 23 จังหวัด 76 อำเภอ 172 ตำบล ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ ตาก นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำพูน เลยศรีสะเกษ สระแก้ว สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี
พลเอกฉัตรชัย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา และ ลุ่มน้ำแม่กลอง ไม่ได้รับผลกระทบ โดยปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้รวม 12,420 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ 2 เขื่อนหลักลุ่มน้ำแม่กลอง มีน้ำใช้การได้รวม 10,958 ล้าน ลบ.ม. สามารถจัดสรรเป็นน้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตรต่อเนื่อง การเกษตรฤดูแล้ง และ การเริ่มต้นเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ได้ถึง ก.ค. 62 โดยการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ต้องเป็นไปตามแผนของกระทรวงเกษตรฯ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมวันนี้ได้เน้นย้ำมาตรการเตรียมการช่วยเหลือโดยใช้แนวทางการจัดการน้ำเขื่อนกระเสียวโมเดลที่ประชาชนมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการบริหารจัดการน้ำ จัดสรรน้ำที่มีอยู่ตามความเร่งด่วนตามลำดับ ได้แก่ น้ำอุปโภคบริโภค น้ำรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ต้องหาวิธีการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้แก่ การใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ การผันน้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาล การจัดรถขนส่งน้ำ และ การปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งในระหว่างที่เกิดวิกฤตแล้งนี้กระทรวงเกษตรฯ และ กระทรวงมหาดไทยจะเป็นหน่วยงานหลักในการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร โดยการเกษตรต่อเนื่องต้องไม่เสียหาย และ การเกษตรใหม่ในพื้นที่ขาดน้ำต้องไม่ทำ แต่มีทางเลือกอื่นๆ เช่น การจ้างแรงงาน โดยกรมชลประทาน ที่พบว่า ทั้งประเทศ มีงบประมาณจ้างแรงงาน 2,743.17 ล้านบาท สามารถจ้างงานเกษตรกรที่ไม่ได้ประกอบอาชีพการเกษตรได้ 116,740 คน ซึ่ง 7 เขื่อนหลักน้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 มีงบประมาณจ้างแรงงาน 100.42 ล้านบาท สามารถจ้างงานเกษตรกรที่ไม่ได้ประกอบอาชีพการเกษตรได้ 4,276 คน เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ โดยกรมชลประทาน เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 1,851 เครื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ 1,151 เครื่อง และ ส่วนกลาง 700 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 200 คัน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เตรียมขุดเจาะบ่อบาดาล รวม 1,954 แห่ง น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง 895 แห่ง น้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ 431 แห่ง น้ำบาดาลในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ปัญหาคุณภาพน้ำเค็ม 80 แห่ง และเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับระบบประปาหมู่บ้าน 548 แห่ง
“การเรียกทุกหน่วยงานร่วมประชุมครั้งนี้ เพื่อซักซ้อมแนวทาง และกำหนดมาตรการช่วยเหลือให้ครอบคลุมลงในพื้นที่ของทุกหน่วยงาน โดยทุกหน่วยงานรับทราบเป้าหมายพื้นที่เสี่ยงร่วมกัน ก่อนที่จะมีการแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งจะดูแลการปฏิบัติในพื้นที่ โดยมีสทนช. กำกับให้เป็นไปตามแผนในภาพรวม พร้อมทั้งนำบทเรียนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งจากปีที่ผ่านมา มาพิจารณาทบทวน ปรับปรุง พัฒนาและอุดช่องโหว่ต่างๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้ช่วงแล้งปี 61/62 จะต้องไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้งเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาให้ได้ ซึ่งผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งของรัฐบาลนี้ พบว่า พื้นที่การเกษตรเสียหายจากน้ำท่วมลดลง เช่น ปริมาณฝนในปี 2560 ใกล้เคียงกับปี 2554 แต่ปี 2560 มีพื้นที่เสียหาย 4.83 ล้านไร่ ขณะที่ปี 2554 มีพื้นที่เสียหาย 12.23 ล้านไร่ พื้นที่ประกาศเขตการให้การช่วยเหลือภัยแล้งลดลง โดยในปี 2559/60 มี 1 จังหวัด คือ จ.สระแก้ว ส่วนปี 2560/61 ไม่มีเลย ขณะที่งบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม-ภัยแล้ง ทั้งด้านการเกษตรและด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นงบประมาณตามระเบียบทางราชการ ในช่วงรัฐบาลนี้ใช้งบประมาณน้อยกว่าช่วงก่อนหน้า 2.7 - 4.8 เท่า” พลเอกฉัตรชัย กล่าว
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการประชุมเตรียมการสถานการณ์น้ำและแผนรองรับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของรองนายกฯ ครั้งที่ผ่านมาซึ่งมีความก้าวหน้าตามลำดับ อาทิ การติดตั้งระบบโทรมาตรวัดน้ำฝนบริเวณพื้นที่ต้นน้ำสำคัญๆ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ขณะนี้ สสนก. ได้ติดตั้งโทรมาตรแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน 2 แห่ง เขื่อนขุนด่าน 2 แห่ง รวมถึงการบำรุงรักษาระบบให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ หรือการเชื่อมโยงระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย-ดินถล่มในระบบออนไลน์กับ สทนช. ปภ. และจังหวัดในพื้นที่ และการจัดทำแผนที่พยากรณ์อากาศให้เป็นแผนที่ฉบับเดียวกัน (OneMap)เพื่อให้ข้อมูลเป็นเอกภาพผ่านเว็บไซต์บูรณาการข้อมูลน้ำประเทศไทย “waterinfo.onwr.go.th” เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมรับทราบสรุปรายงานสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีพื้นที่ประสบน้ำท่วมรวม 32 จังหวัด 109 อำเภอ รวม 868,313 ไร่ ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,161 ครัวเรือน มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อป้องกันผลกระทบโดยงบประมาณจังหวัดวงเงิน 40 ล้านบาท และผลการปฏิบัติงานของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวโดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงวิกฤติ อาทิ กำหนดเกณฑ์ควบคุมติดตาม กำกับ การบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำ การจัดทำรายงาน “สรุปสถานการณ์น้ำประเทศไทย” เสนอผู้บริหารเพื่อพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้ข่าวสารข้อมูลเดียวกัน ลดปัญหาความตื่นตระหนกให้กับประชาชน และประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแจ้งเตือนประชาชน และลดความเสียหาย ทั้งนี้ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศสิ้นสุดฤดูฝนอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 ตค.ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีจึงได้มีข้อสั่งการให้ปรับรูปแบบศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เพื่อติดตามสถานการณ์เชิงป้องกันในช่วงฤดูแล้ง โดยให้มีการประชุมหารือติดตามสถานการณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะการควบคุมการจัดสรรน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ให้อยู่ในแผน และการให้ความช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้