พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการจัดเก็บกระทงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2561 ว่า กทม.โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต ได้ร่วมกันจัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอยเพื่อแสดงความขอบคุณและขอขมาพระแม่คงคาในเทศกาลลอยกระทงเมื่อคืนวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยในปีนี้ กทม. จัดงานลอยกระทงที่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) และคลองโอ่งอ่าง พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ประชาชนลอยกระทงบริเวณริมแม่น้ำ คูคลอง บึงน้ำ สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เอกชนอีกหลายแห่ง โดย กทม.ได้ระดมเจ้าหน้าที่ดำเนินการเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ลำคลองต่างๆ และสวนสาธารณะทั้ง 30 แห่ง ที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทงทั่วพื้นที่ กทม. ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นับและคัดแยกกระทงเสร็จสิ้นในเวลา 06.00 น. ของวันที่ 23 พ.ย.61 รวมจัดเก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 841,327 ใบ กระทงส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ จำนวน 796,444 ใบ คิดเป็นร้อยละ 94.7 และกระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 44,883 ใบ คิดเป็นร้อยละ 5.3
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า สำหรับปี 2561 จัดเก็บกระทงได้เพิ่มขึ้นกว่าปี 2560 จำนวน 29,382 ใบ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.62 โดยเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายเพิ่มขึ้นจากปี 2560 จากร้อยละ 93.6 เป็นร้อยละ 94.7 ส่วนกระโฟมลดลงจากร้อยละ 6.4 เป็นร้อยละ 5.3 ทั้งนี้ พื้นที่เขตที่มีปริมาณกระทงมากที่สุด คือ เขตลาดกระบัง จำนวน 33,257 ใบ ส่วนเขตที่มีปริมาณกระทงน้อยที่สุด คือเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน 230 ใบ เขตที่มีจำนวนกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมากที่สุด คือ เขตลาดกระบัง จำนวน 32,934 ใบ และเขตที่จำนวนกระทงโฟมมากที่สุด คือ เขตราษฎร์บูรณะ จำนวน 750 ใบ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในตอนท้ายว่า จากข้อมูลดังกล่าวแม้ว่าปีนี้จำนวนกระทงที่จัดเก็บได้จะเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่ร้อยละของกระทงที่ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติก็ไม่ได้ลดลง ซึ่งแสดงว่าประชาชนและผู้ค้ายังคงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กทม.ได้ดำเนินการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง และนับจำนวนเพื่อเก็บสถิติ จากนั้นจะนำกระทงจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายง่าย ส่งไปยังโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ที่โรงงานขยะหนองแขม ส่วนกระทงโฟมและวัสดุที่ย่อยสลายยากจะถูกนำไปทำลายโดยการฝังกลบเพื่อรอการย่อยสลายต่อไป
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดคอยเก็บกระทงบนผิวน้ำตั้งแต่บริเวณใต้สะพานพระราม 7 ไปจะถึงบริเวณวัดโยธินประดิษฐ์ เขตบางนา ระยะทางประมาณ 34 กม. โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน ได้แก่ สะพานพระราม 7ถึงสะพานพุทธ สะพานพุทธฯ ถึงสะพานกรุงเทพฯ และสะพานกรุงเทพถึงสุดเขตบางนา โดยจัดเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บกระทง จำนวน 213 คน พร้อมใช้เรือในการจัดเก็บกระทงและเรือตรวจการณ์ จำนวน 40 ลำ และใช้รถบรรทุกเก็บขนมูลฝอยจำนวน 9 คัน ในการลำเลียงกระทงไปส่งที่สถานีขนถ่ายมูลฝอย โดยจะใช้จุดลำเลียง 2 จุด ได้แก่ บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง สะพานพุทธฯ เขตพระนคร และท่าคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เขตราษฎร์บูรณะ ด้านสำนักการระบายน้ำ ดำเนินการจัดเก็บกระทงในคูคลองและบึงรับน้ำ ส่วนสำนักงานเขตดำเนินการจัดเก็บกระทงในสวนสาธารณะและพื้นที่จัดงานในพื้นที่เขต ทั้งนี้กรุงเทพมหานครเริ่มดำเนินการจัดเก็บกระทงตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 22 พ.ย.61 เป็นต้นไป และเร่งจัดเก็บแล้วเสร็จในทุกพื้นที่ภายในเวลา 06.00 น. ของวันที่ 23 พ.ย.61