ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
“ดีอี”จับมือสภาเศรษฐกิจโลก สร้างทักษะด้านดิจิทัลเอสเอ็มอีไทย
06 ธ.ค. 2561

                  กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) เปิดตัวข้อตกลงร่วมภายใต้โครงการ “ดิจิทัล อาเซียน” ดึงกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกและภูมิภาค พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แรงงานในอาเซียน 20 ล้านคน ภายในปี 2563 มุ่งเน้นกลุ่มเอสเอ็มอี เพราะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจอาเซียน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ในการเปิดตัวร่วมกับกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกเพื่อนำร่องในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับแรงงานในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี เป้าหมาย 20 ล้านคน ภายในปี 2563 ว่า ข้อตกลงนี้เป็นการตั้งโจทย์โดยสภาเศรษฐกิจโลก โดยเอกชน และจะนำไปสู่การส่งเสริมการค้าการลงทุน

โดยข้อตกลงนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือในภูมิภาคจากภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนผ่านการฝึกฝน การเรียนรู้ทักษะ และเสริมสร้างความเชี่ยวชาญ มีกลุ่มบริษัทนำร่อง ได้แก่ ซิสโก้ กูเกิล ไมโครซอฟท์ ลาซาด้า Grab Tokopedia และ Sea Group ซึ่งเป็นบริษัททั้งระดับโลกและระดับอาเซียนการสนับสนุนยังมีทั้งให้ทุนการศึกษา เปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยในอาเซียนได้เข้าฝึกงานกับบริษัท การอบรมเจ้าหน้าที่ และการร่วมสร้างหลักสูตรเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ในสถาบันการศึกษา คาดว่าจะสร้างให้เกิดการจ้างแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล 200,000 คนในอาเซียน ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า

ดร.พิเชฐฯ กล่าวว่า ข้อตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ดิจิทัล อาเซียน” ซึ่งริเริ่มโดยภาคเอกชนผ่านทางสภาเศรษฐกิจโลก เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในเอเชีย 4 ด้าน ได้แก่ 1. การพัฒนาบุคลากร โดยดึงเอาบริษัทใหญ่มาร่วมพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับเอสเอ็มอี 2. ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างกัน 3 .Data Governance หรือธรรมาภิบาลของข้อมูล ทั้งการส่งเสริม การคุ้มครอง ซึ่งครอบคลุมไปถึงข้อมูลในส่วนที่ข้ามประเทศ (Cross Border) และ 4. e-Payment ระบบชำระเงินและการ แลกเปลี่ยน ซึ่งประเทศไทยมีโครงการที่ทำแล้วและน่าจะเป็นประโยชน์ได้ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้แก่ พร้อมเพย์ และการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงอีกด้าน คือ Digital Access หรือการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยในส่วนของประเทศไทย ก็มีโครงการเน็ตประชารัฐ ที่จะนำไปสร้างการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้

“ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการดิจิทัล อาเซียน  บทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ก็มีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำหัวข้อน่าสนใจกับโครงการนี้ และคุยกับรัฐมนตรีอาเซียนบางประเทศ ภายใต้ความร่วมมือนี้ 4-5  ด้าน” ดร.พิเชฐ กล่าว

นอกจากนี้ ในปีหน้าประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน ก็มีการเตรียมคุยประเด็นของดิจิทัลอาเซียน ทั้งในระดับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN TELMIN) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (TELSOM) 

ด้านนายจัสติน วู้ด หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และสมาชิกคณะกรรมการบริหารของสภาเศรษฐกิจโลก กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการพัฒนาทักษะแรงงานด้านดิจิทัลในภูมิภาคนี้ไปแล้วประมาณ 8.5 ล้านคน และมีจำนวนมากที่อยู่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ เหตุผลที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเอสเอ็มอี เพราะเป็นตัวผลักดันหลักต่อความสำเร็จของการเติบโตทางเศรษฐกิจอาเซียน แรงงานส่วนใหญ่ทุกประเทศทำงานในบริษัทขนาดกลางและเล็ก และถ้ามองเจาะลงมาที่ประเทศไทย ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลจะเห็นธุรกิจเล็กๆ หรือครอบครัวในชนบทห่างไกล สามารถได้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต และแพลตฟอร์มด้านอี-คอมเมิร์ซ ช่วยให้ขายสินค้าได้ไกลถึงต่างประเทศ

“การสร้างทักษะพื้นฐานให้กับเอสเอ็มอีอาเซียนรวมทั้งไทย จะเน้นเรื่องความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือดิจิทัล การใช้อี-คอมเมิร์ซช่วยค้าขาย และอี-เปย์เม้นท์ เป็นต้น ส่วนการพัฒนาทักษะระดับสูงขึ้น เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะมุ่งที่กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา” นายจัสติน กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...