รัฐมนตรีเกษตรฯ ยืนยันภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตรปี 2562 มีแนวโน้มดีขึ้น ทั้ง ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และยางพารา ย้ำเดินหน้านโยบายปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2561 และแนวโน้มปี 2562 ในหัวข้อ “โลกเปลี่ยน เกษตรปรับ เกษตรกรปรับเปลี่ยน” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ว่า การพัฒนาการเกษตรของประเทศภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมสถาบันการศึกษา และเกษตรกร เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันในการสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นให้เกิดการปรับตัว เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทยในอนาคต ซึ่งจะทำให้ภาคเกษตรและเกษตรกรไทยสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกได้อย่างเท่าทัน
ทั้นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2562 ในภาพรวมว่า มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นในด้านราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และยางพารา เนื่องจากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรที่มีมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับระบบการทำงานของข้าราชการร่วมกับเกษตรกรให้มีความสอดคล้องกัน โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และการส่งเสริมระบบสหกรณ์ให้เข้มแข็งโดยการเพิ่มบทบาทในการเป็นศูนย์รวบรวมผลผลิตและจำหน่ายให้แก่เอกชน เป็นต้น รวมทั้งในด้านปศุสัตว์ ได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง โดยการจำกัดและลดจำนวนแม่พันธุ์ไก่ไข่ลง 1 ล้านตัว คาดว่าจะสามารถดึงราคาไข่ไก่ให้สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ในปี 2562 กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการในการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร โดยการหารือร่วมกับภาคเอกชนในการลดราคาปุ๋ย ซึ่งจะมีราคาลดลง 20 – 30 บาทต่อกิโลกรัมด้วย
สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการในการสัมมนาในวันนี้ คือ การนำเสนอผลการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2561 และการคาดการณ์แนวโน้มปี 2562 ทั้งเศรษฐกิจการเกษตรภาพรวม และรายสาขาการผลิตที่สำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งพี่น้องเกษตรกร นักวิชาการ ผู้ประกอบการและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร ได้ทราบถึงสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่มีผลต่อเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2562 เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับเตรียมการรองรับได้อย่างเหมาะสม และวัตถุประสงค์ประการที่ 2 ได้มีการเชิญนักวิชาการ ตัวแทนเกษตรกร และภาคเอกชนมาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองเกี่ยวกับการปรับตัวของภาคเกษตรไทย เพื่อให้ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางการพัฒนาและการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป