สทนช. เรียกหน่วยงานงานที่เกี่ยวข้องประชุมด่วน เตรียมเฝ้าระวังพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) 3-5 ม.ค.นี้ พร้อมเปิดศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราว เฝ้าระวังและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและอุทกภัยตลอด 24 ชม.
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ว่า จากการประชุมและวิเคราะห์สถานการณ์ของพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวนและเคลื่อนลงอ่าวไทย ในช่วงวันที่2 ม.ค. 62นี้ โดยจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในพื้นที่ภาคใต้ ช่วงระหว่างวันที่ 3-5 ม.ค. 62 ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากโดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุงสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และจังหวัดสตูล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และจังหวัดชุมพร คาดว่าจะมีฝนตกหนักประมาณ 200-300 มิลลิเมตรต่อวัน
โดยจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้ วันที่ 3 ม.ค.62 เริ่มได้รับผลกระทบ จังหวัดพัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส วันที่ 4 ม.ค.62 จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง วันที่ 5 ม.ค. 62 จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และหลังจากวันที่ 6 ม.ค. 62 เป็นต้นไป ปริมาณฝนจะค่อยๆ เบาบางลง
ทั้งนี้สทนช. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมรองรับสถานการณ์เขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเขื่อนที่อยู่ในความดูแลของของกรมชลประทาน ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 612 ล้าน ลบ.ม.(83%) และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 353 ล้าน ลบ.ม.(90%) ในส่วนของเขื่อนที่อยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 4,701 ล้าน ลบ.ม.(83%) สามารถรับน้ำ ได้อีก 938 ล้าน ลบ.ม และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ปริมาณน้ำ 1,076 (74%) รับน้ำได้อีก 378 ล้าน ลบ.ม.
โดยศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมชลประทาน พิจารณาเร่งการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคใต้ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 เร่งระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนและติดตามสภาพฝน และการระบายน้ำให้สัมพันธ์กับพื้นที่ท้ายน้ำเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น