นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประมาณต้นปี 2562 กระทรวงเกษตรฯจะสรุปตัวเลขเป้าหมายผลผลิตข้าวในปีการผลิต 2562/63 เบื้องต้นคาดว่าเพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2561/2562 ประมาณ 1 ล้านตัน หรือมีผลผลิตข้าวทั้งปีประมาณ 33-34 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวคาดว่าจะไม่กระทบกับราคาที่เกษตรกรขายได้ โดยข้าวหอมมะลิยังน่าจะขายได้ในราคาใกล้เคียงปีก่อนหน้า คือประมาณ 18,000 บาท/ตัน ส่วนข้าวขาวก็ลดหลั่นลงไป แต่ปัญหาราคาและผลผลิตข้าวของไทยจากนี้ไม่น่ามีปัญหาแล้ว
ทั้งนี้ ราคาข้าวพรีเมี่ยมของไทยยังราคาดี และมีแนวโน้มตลาดจะต้องการอีกมาก เพราะในแต่ละปีไทยส่งออกข้าวพรีเมี่ยม โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ จำนวนไม่มากประมาณ 2 ล้านตัน ส่วนที่เหลืออีก 2 ล้านตันข้าวสารก็บริโภคในประเทศ ซึ่งกรมการข้าว กับกระทรวงพาณิชย์ ยังคงเดินหน้าโปรโมทข้าวไทยให้เป็นที่รู้จักของทั่วโลกต่อไป
“ช่วงประมาณกันยายนถึงตุลาคมจะมีขบวนการปล่อยข่าวลือตลอดทุกปี เรื่องข้าวไทย ว่ามีข้าวปริมาณมาก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ อาจเกิดคาดหวังให้มีการราคาลดต่ำลง กดราคาของชาวนาที่จะขายได้หลังราคาเก็บเกี่ยว กรมการข้าวได้ลงพื้นที่ทุกครั้งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่มีข้าวซ้ำเติมชาวนา ปรากฏว่า ปริมาณข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไม่ได้มีมากเกินความต้องการ ซึ่งในความจริงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในตลาดโลก รวมถึงขณะนี้ไทยมี่มีสต๊อกข้าวจากการจำนำเหลืออยู่ส่งผลให้ราคาข้าวจากนี้ต่อไปไม่น่ามีปัญหา ชาวนายังคงขายได้ราคาใกล้เคียงปีนี้แน่นอน”
นายอนันต์ กล่าวว่า นอกจากความประณีตในเรื่องของการประกอบอาชีพของชาวนามีมากขึ้น พร้อมกับภาคเอกชน โดยเฉพาะนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) เริ่มเข้ามาทำโครงการประชารัฐเรื่องข้าวกับกระทรวงเกษตร ถือเป็นความร่วมมือที่ทำให้ความสัมพันธ์อันดีเกิดขึ้นระหว่าง พ่อค้า กับเกษตรกร เพราะเมื่อร่วมมือกับทำงาน พ่อค้าหรือเอกชนก็จะเข้าใจว่าชาวนามีความเสี่ยงด้านการประกอบอาชีพ ทั้งเรื่องของผลผลิต ราคา ส่วนชาวนาก็จะได้ไม่กล่าวหาว่าพ่อค้าเอาเปรียบ
ด้านนายพายัพ ยังปักษี นายกสมาคมชาวนาและโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เพิ่งผ่านฤดูเก็บเกี่ยวข้าวที่ผลผลิตออกมากระจุกตัวพร้อมๆกัน เริ่มจากภาคเหนือ อีสานและภาคกลาง ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.ประมาณ 20 ล้านตัน ทำให้รู้ว่าชาวนายังประสบปัญหาเรื่องของการสูญเสียข้าวจากการเก็บเกี่ยวจำนวนมาก เพราะขณะนี้ชาวนาไทย มีอายุมากขึ้น ส่วนใหญ่เริ่มใช้เครื่องจักร เริ่มใช้รถเกี่ยวข้าว ทำให้เกิดการสูญเสียในกระบวนการเก็บเกี่ยวประมาณ 10% หากหอมมะลิราคา 18,000 บาท ชาวนาจะสูญเสียเงินจากข้าวตกสูญหายประมาณ 1,800 บาท/ตัน