การประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง วาระพิเศษเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562 ที่ประชุมได้นำข้อหารือของรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม มาพิจารณา เพื่อไม่ให้ไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้งทับซ้อนกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่รัฐบาลกำลังเตรียมการ
โดยที่ประชุมมีการวางโจทย์การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ไว้ 2 ประเด็นสำคัญคือ
1. การจัดการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นก่อนพระราชพิธี และประกาศผลเลือกตั้งรวมถึงจัดตั้งรัฐบาลหลังวันพระราชพิธี เพื่อไม่ให้ทับซ้อนห่วงเวลาของการจัดพระราชพิธี ทั้งนี้หากยังเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2562 การประกาศผลภายใน60เกิดขึ้นภายในวันที่24 เมษายน 2562 ซึ่งจะตรงกับช่วงเตรียมการของรัฐบาลในการจัดพระราชพิธี
2. การจัดการเลือกตั้งต้องอยู่ในช่วง150วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งจะต้องรวมถึงวันประกาศผลการเลือกตั้งด้วย เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 กำหนดว่า กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ภายใน150 วัน ซึ่งคำว่า"แล้วเสร็จ"ในความเห็นของ กกต. คือรวมถึงวันประกาศผลด้วย
ที่ประชุม กกต. จึงเห็นว่า วันที่10 มีนาคม 2562 เป็นวันที่เหมาะสมที่สุดในการจัดเลือกตั้ง โดยคิดจาก การเอาวันที่ 9 พ.ค. 2562 (วันครบ150วันจัดเลือกตั้ง) เป็นตัวตั้ง แล้วนับย้อนกลับมา 60 วันซึ่งเป็นระยะเวลาที่ กกต. จะต้องประกาศผลเลือกตั้ง จะทำให้ตรงกับวันที่ 11 มีนาคม แต่เนื่องจากวันที่11 มีนาคมเป็นวันจันทร์ การเลือกตั้งต้องจัดในวันอาทิตย์ จึงเอาวันอาทิตย์ ที่ 10 มีนาคม เป็นวันที่เหมาะสม โดยคาดการณ์ว่า พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง จะมีผลบังคับใช้ ก่อนวันเลือกตั้ง45วัน คือประมาณวันที่ 20-25 มกราคมนี้
ส่วนสาเหตุที่ไม่เลือกวันที่ 17 มีนาคมนั้น มีการให้เหตุผลว่า ตรงกันวันสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือ TCAS ทำให้ตัวเลือกวันเลือกตั้งมีเพียง2วัน เท่านั้นคือ 10 และ 24 มีนาคม 2562 เหตุผลที่ กกต. ไม่เลือกวันที่ 24 มีนาคม เพราะไม่อยากให้ถูกมองว่าดำเนินการตามที่รัฐบาลร้องขอ อีกทั้งวันที่ 24 มีนาคม หากประกาศผล 60วันจะทำให้เลยกรอบ 150วัน เสี่ยงต่อการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ เพราะ กกต. ไม่ได้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันตามที่ รัฐธรรมนูญกำหนด
ดังนั้นเมื่อวานนี้ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ สำนักงาน กกต. ไปทำปฏิทินเลือกตั้งใหม่ เพื่อส่งให้ กกต. พิจารณากำหนดวันเลือกตั้งอีกครั้ง หลังมีพระราขกฤษฎีกาเลือกตั้ง