GC จับมือ ศิลปากร พัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้า 5 ปี ลดการผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง(Single – Use Plastic)
นายปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ขยะพลาสติกในประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ GC ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม GC ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมและการดำเนินธุรกิจของ GC มาอย่างต่อเนื่อง
การร่วมลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการผลิตและการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBSTM ในโครงการ Be Smart Be Green การใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย GC ให้การสนับสนุนเม็ดพลาสติก BioPBSTM ในการผลิตแก้วกระดาษเคลือบ BioPBS และหลอดไบโอพลาสติก ให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลพลาสติกแบบย่อยสลายได้ และความร่วมมือส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงการใช้และการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อสร้างจิตสำนึกตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
นอกจากนี้ PTTGC ยังอยู่ระหว่างการศึกษาหัวเชื้อสำหรับหมักน้ำตาลจากอ้อย เพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชนิด PLA ซึ่งมีคุณสมบัติความแข็งและใส ย่อยสลายได้ภายใน180 วัน เพื่อใช้ทดแทนพลาสติกทั่วไปที่ใช้เวลาย่อยสลายถึง 400 ปี การที่ PTTGC ตัดสินใจศึกษาหัวเชื้อดังกล่าว เนื่องจากโลกปัจจุบันกำลังมุ่งเน้นการลดใช้ถุงพลาสติกเพื่อลดปัญหาขยะสิ่งแวดล้อม ประกอบกับประเทศไทยเริ่มลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา ดังนั้น PTTGC จึงมีแนวทางจะลดการผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น เม็ดพลาสติดสำหรับผลิตถุงพลาสติก โดยจะยกเลิกการผลิต 1.5 แสนตันต่อปี จากกำลังการผลิตทั้งหมด 2 ล้านตันต่อปี ภายใน 5 ปีนี้
อย่างไรก็ตามคาดว่าจะทราบผลการศึกษาภายในปลายปี 2562 นี้ ก่อนจะสร้างเป็นโรงงานต้นแบบผลิตเม็ดพลาสติกชนิด PLA ขนาด 5 ตันต่อครั้ง และหากประสบผลสำเร็จจะสร้างเป็นไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2 ที่จ.นครสวรรค์ ที่คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1-3 หมื่นล้านนบาท