กระทรวงเกษตรฯ ผลักดันศูนย์ผลิตน้ำเชื้อพ่อโคพันธุ์ให้ได้มาตรฐาน จำหน่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมขยายการให้บริการผสมเทียมครอบคลุมทั่วประเทศ ให้เกษตรกรเข้าถึงมากขึ้น
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ผลิตน้ำเชื้อพ่อโคพันธุ์ โครงการหลวงอินทนนท์ ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ริเริ่มพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคนม โคเนื้อโดยใช้เทคโนโลยีผสมเทียมตั้งแต่ปี 2499 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้นำเข้าพ่อโคพันธ์ุจากต่างประเทศมาใช้ในการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน สามารถปรับปรุงโคนม โคเนื้อของเกษตรกร และเพิ่มมูลค่าให้แก่ปศุสัตว์ของประเทศไทยได้อย่างทั่วถึง กรมปศุสัตว์จึงได้มีการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ผลิตน้ำเชื้อพ่อโคพันธุ์ขึ้น เพื่อวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงสัตว์พ่อพันธุ์โคเนื้อโคนมพันธุ์ดีเยี่ยมที่ผ่านการทดสอบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะโคสายพันธุ์ยุโรปซึ่งมีศักยภาพสูงในการปรับปรุงพันธุ์ปศุสัตว์ของประเทศไทย รวมทั้งวิจัยและพัฒนาการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งให้มีประสิทธิภาพสูงตลอดปี
นายลักษณ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีศูนย์วิจัยและผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์ 3 แห่ง ได้แก่ โครงการหลวงอินทนนท์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลำพญากลาง โดยจะผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์โค ทั้งโคเนื้อและโคนม ในส่วนของโครงการหลวงอินทนนท์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นพ่อพันธุ์โคเนื้อจากต่างประเทศ และพ่อพันธุ์ที่ต้องการอากาศเย็น ซึ่งทั้ง 3 ศูนย์ฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มและศูนย์ผลิตน้ำเชื้อมาตรฐาน โดยมีพ่อโครวมทั้งสิ้น 111 ตัว (โคนม 73 ตัว และโคเนื้อ 38ตัว) ศูนย์ฯ มีกำลังการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งรวม 974,000 โด๊สต่อปี แบ่งเป็น 1. น้ำเชื้อโคนม 570,000 โด๊ส และ 2. น้ำเชื้อโคเนื้อ 404,000 โด๊ส
ทั้งนี้ ภาพรวมการผสมเทียมโคนมในประเทศไทยนั้น มีจำนวนโคนมในประเทศ ประมาณ 560,000 ตัว อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ที่สามารถผสมได้ 400,000 ตัว ได้รับบริการผสมเทียมร้อยละ 99 และมีปริมาณการใช้น้ำเชื้อแช่แข็งของกรมปศุสัตว์400,000 โด๊สต่อปี ส่วนจำนวนโคเนื้อเพศเมีย (วัยเจริญพันธุ์) มีประมาณ 1.66 ล้านตัว ได้รับบริการผสมเทียมประมาณ600,000 ตัว และมีปริมาณการใช้น้ำเชื้อแช่แข็งของกรมปศุสัตว์ 400,000 โด๊สต่อปี
สำหรับแนวทางการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อและโคนมเพื่อรองรับ FTA กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ จะผลักดันเรื่องการรองรับมาตรฐานศูนย์ผลิตน้ำเชื้อเอกชนเพื่อกระตุ้นให้เอกชนผลิตน้ำเชื้อคุณภาพดีเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริการผสมเทียมให้ดีขึ้น และส่งเสริมการส่งออกน้ำเชื้อไปจำหน่ายยังต่างประเทศ รวมทั้งดำเนินการด้านกฎหมายในศูนย์ผลิตน้ำเชื้อที่ไม่ได้มาตรฐาน พร้อมเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการตรวจคุณภาพน้ำเชื้อของกรมปศุสัตว์ให้ได้รับมาตรฐานสากล (ISO17025 ภายในปี 2563) อีกทั้งสนับสนุนงบประมาณในการเพิ่มหน่วยผสมเทียมและเพิ่มการให้บริการผสมเทียมของกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ต่างๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ให้เกษตรกรเข้าถึงบริการได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนผลักดันการจำหน่ายน้ำเชื้อของกรมปศุสัตว์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย