พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงาน และการประชุมระดับรัฐมนตรีแรงงานไทย-ลาว ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากที่ไทยและลาว ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างกัน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และ นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนและประธานร่วมฝ่ายไทย และ ดร.คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแห่ง สปป. ลาว และนายลีปาว หยาง ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแห่ง สปป.ลาว เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนและประธานร่วมฝ่ายลาว ในการประชุมระดับรัฐมนตรีและการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ตามลำดับ
ที่ประชุมได้ทบทวนผลการดำเนินงานร่วมกันในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1) ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมการฝึกอบรมให้กับบุคลากรภาครัฐของ สปป.ลาว ในสาขาการบริหารจัดการ งานช่างอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน จำนวน 662 คน ในปีงบประมาณ 2561 และในปี 2562 มีแผนฝึกอบรมให้บุคลากรภาครัฐของ สปป.ลาว อีกจำนวน 500 คน 2) ด้านการจ้างงาน รัฐบาลไทยได้ดำเนินการจัดระบบแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา ลาว) สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และได้จัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดหนองคาย และมุกดาหาร เพื่อเป็นสถานที่อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานและการใช้ชีวิตในเมืองไทยแก่แรงงานต่างด้าว และทำหน้าที่ตรวจสอบ/ คัดกรองแรงงานต่างด้าวก่อนอนุญาตให้เดินทางเข้ามาทำงานในไทย รวมถึงเป็นจุดพักรอแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศ และเป็นจุดดำเนินการประสานงานระหว่างนายจ้างและแรงงานต่างด้าวด้วย
ซึ่งจากข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2561 - มกราคม 2562 มีแรงงานสัญชาติลาวเข้ารับการอบรมที่ศูนย์แรกรับฯ ทั้ง 2 แห่ง รวม 23,273 คน 3) ด้านการคุ้มครองแรงงาน ในช่วงปี 2560 - 2561 รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือติดตามสิทธิประโยชน์กับแรงงานสัญชาติลาวที่ทำงานในประเทศไทยกรณีค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าล่วงเวลา จำนวน 154 คน คิดเป็นเงินที่ได้รับจำนวน 504,588.25 บาท 4) ด้านการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมของไทย และองค์การประกันสังคมแห่งชาติลาว มีการเจรจาหารือร่วมกันในเรื่องการจัดทำข้อตกลงการจ่ายบำเหน็จชราภาพ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมกันจัดทำแผนดำเนินงานระยะ 3 ปีข้างหน้า (ปี 2562 – 2565) ซึ่งประกอบด้วยการจัดประชุมเชิงวิชาการ การฝึกอบรม การคุ้มครองและติดตามสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานที่ทำงานในประเทศไทย และงานประกันสังคม รวมถึงฝ่ายไทยได้เสนอให้ฝ่ายลาวปรับเพิ่มข้อความในบันทึกความเข้าใจฯ เกี่ยวกับการจ้างงานระยะสั้นในภาคเกษตร ให้มีเงื่อนไขการจ้างงานน้อยกว่า 2 ปี และให้มีการตรวจสุขภาพและประวัติอาชญากรรมของแรงงานสัญชาติลาว ณ สปป. ลาว ก่อนเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยรวมถึงให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาการเดินทางเข้ามาของแรงงานที่มีบัตรผ่านแดน หรือบัตรอื่นใดในทำนองเดียวกัน เพื่อทำงานเป็นการชั่วคราว ในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลและในท้องที่ที่กำหนด
การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงาน และการประชุมระดับรัฐมนตรีแรงงานไทย-ลาว ในครั้งนี้จัดขึ้นตามข้อกำหนดในเรื่องการดำเนินงานตามบันทึกความเข้าใจฯ ที่กำหนดให้ “คู่ภาคีดำเนินการจัดประชุมเพื่อติดตามการปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจฯเป็นระยะตามความเหมาะสม โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ” ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปฝ่ายลาวจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่ สปป. ลาว
ปัจจุบันมีแรงงานสัญชาติลาวทำงานอยู่ในประเทศไทย (ข้อมูล ม.ค.62) จำนวนทั้งสิ้น 286,461 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภททั่วไป จำนวน 285,975 คน แรงงานประเภทฝีมือ 290 คน และชนกลุ่มน้อย 196 คน ซึ่งการประชุมด้านแรงงานไทย-ลาว ในครั้งนี้จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานอย่างยั่งยืนต่อไป