รัฐมนตรีพลังงานลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยแหล่งเอราวัณ กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด และ สัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยแหล่งบงกชกับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ทั้ง 2 ฉบับแล้ว
การลงนามดังกล่าวสืบเนื่องมาจากที่การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ได้มีมติตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงานโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียม อนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัดเป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช)
โดยในเงื่อนไขการประมูลดังกล่าว ได้กำหนดให้ผูกพันปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำสำหรับ 10 ปีแรกของระยะเวลาการผลิต ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งเอราวัณ และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งบงกช และกำหนดให้ข้อเสนอราคาขายก๊าซธรรมชาติเป็นเกณฑ์หลักในการคัดเลือกผู้รับสิทธิฯ และให้ข้อเสนออัตราส่วนแบ่งผลผลิตจากกำไรให้รัฐเป็นเกณฑ์รอง
ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้ง 2 แปลง ได้เสนอราคาค่าคงที่สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาปัจจุบันของทั้ง 2 แปลง (ดังแสดงในกราฟแนบ) นับเป็นจุดเริ่มต้นของฐานพลังงานใหม่โดยจะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติลดลงจากเดิมในราคาประมาณ 6 – 7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ประมาณ 4 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และราคาก๊าซธรรมชาติที่ถูกลงยังทำให้ค่าไฟลดลงประมาณ 15-20 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมที่ราคา 3.6 บาทต่อหน่วย ลดลงมาอยู่ที่ 3.4 บาทต่อหน่วย ด้วย นอกจากนั้น โรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศยังได้รับก๊าซธรรมชาติในปริมาณเพียงพอกับการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ในการผลิตเป็นก๊าซ LPG และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในราคาต้นทุนที่แข่งขันได้ อีกทั้งผลจากการที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่มากพอที่จะเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในราคาที่ไม่แพงได้เป็นพื้นฐานในการเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในแผน PDP 2018 จาก 30% เป็น 53% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า
ซึ่งตลอดทุกขั้นตอนของการเปิดประมูลสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทั้ง 2 แปลง ตั้งแต่การออกประกาศเชิญชวน การยื่นซอง การเปิดซอง การพิจารณาผล จนกระทั่งการประกาศผลผู้ชนะการประมูล กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ดำเนินการตามหลักมาตรฐานสากล มุ่งเน้นความโปร่งใส ชัดเจน และเปิดเผยต่อสื่อมวลและสาธารณชนมาโดยตลอด โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นสำคัญ