ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
บอร์ด‘ดีอี’ไฟเขียวจัดหาระบบคลาวด์กลาง รับเป้า 3 ปี ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ 5 พันล้าน
28 ก.พ. 2562

บอร์ดดีอีไฟเขียวเดินหน้าโครงการจัดหาคลาวด์ภาครัฐ ต่อจิ๊กซอว์บูรณาการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ ศูนย์ข้อมูล และคลาวด์คอมพิวติ้ง โดยออกแบบกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ มอบ ‘กสท โทรคมนาคม’ เป็นผู้บริการกลาง ด้านกระทรวงดิจิทัลฯ ผลักดันและพัฒนาประเทศในด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้มีรากฐานที่มั่นคง ต่อยอดผลงานในเวทีโลกที่ขยับอันดับขึ้นในทุกผลสำรวจของสถาบันระดับนานาชาติ

ดร.พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานฯ มีประเด็นหารือสำคัญเกี่ยวกับการผลักดันและพัฒนาประเทศในด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้มีรากฐานที่มั่นคง โดยหัวข้อหลักๆ ได้แก่ การรายงานสรุปสถานะการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามผลการจัดอันดับของสถาบันนานาชาติ แนวทางการจัดระบบข้อมูลดัชนีและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนการประเมินสถานะการพัฒนาเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  และการจัดหาระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC)

โดยที่ประชุมได้พิจารณาการจัดหาคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC) ตามที่มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) มีมติเห็นชอบแนวทางและงบประมาณในการจัดหาและให้ดำเนินการจัดหาคลาวด์กลางภาครัฐ โดยสามารถจัดทำสัญญา ได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี  โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการพิจารณาหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจหน้าที่และความพร้อม ซึ่งกระทรวงฯ ได้คัดเลือกให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการผู้จัดระบบทำคลาวด์กลาง พร้อมเสนอขอให้มีการจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อดำเนินการจัดหาคลาวด์กลางภาครัฐได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐบาลประหยัดค่าเช่าคลาวด์ของประเทศไปได้มากกว่า 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ปัจจุบันหลายหน่วยงานยังขาดเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายสำหรับใช้งาน ขาดแคลนบุคลากร ขาดความรู้ความเข้าใจและขาดการบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบงานของหน่วยงานในการเปลี่ยนเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล ดังนั้น แนวทางจัดทำระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (G-Cloud) จะออกแบบให้เป็นระบบที่สามารถให้บริการได้กับหลายระบบงานของภาครัฐ ที่มีความต้องการใช้งานด้านเครือข่ายเชื่อมโยงที่แตกต่างและหลากหลาย อีกทั้งเป็นการสร้างวิศวกรที่ทำงานเกี่ยวกับคลาวด์ของประเทศได้มากกว่า 2,500 คน ภายในเวลา 3 ปี

นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้นำเสนอรายงานสรุปสถานะการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยตามผลการจัดอันดับของสถาบันชั้นนำในระดับสากล ในรอบปี 2561 ทั้งในส่วนของ สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งในภาพรวม อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน และมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอันดับในทิศทางที่ดีขึ้นในแทบทุกด้าน โดยประเด็นที่มีความโดดเด่นคือ การปรับตัวดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดของดัชนี และตัวชี้วัดในมิติโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ในขณะที่การพัฒนาในมิติสังคมดิจิทัล กำลังคนดิจิทัล และการสร้างความเชื่อมั่นด้านดิจิทัล ก็มีพัฒนาการต่อเนื่อง

“จากการผลการวิเคราะห์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของการจัดอันดับการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย มีข้อเสนอแผนงานการขับเคลื่อน (Quick Win) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศที่สำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการพัฒนาทักษะกำลังคนด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศ การส่งเสริมหน่วยงานของรัฐในการเปิดเผยข้อมูลเปิด (Open Data) การลดอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ และการส่งเสริมการพัฒนาบริการออนไลน์ในรูปแบบภาษาอังกฤษ และสิ่งที่สำคัญคือ การพัฒนาทักษะกำลังคนด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี (Digital/Technological Skills)” ดร.พิเชฐกล่าว

โดยกระทรวงฯ จะดำเนินการติดตามและวิเคราะห์สถานะการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยจะมีการกำหนดกลไกและเครือข่ายในการติดตาม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านการพัฒนาดิจิทัลของประเทศ รวมทั้งการผลักดันแผนงานการขับเคลื่อนดังกล่าว ผ่านกลไก/เวทีในการดำเนินงาน และการหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง จะมีโครงการแผนงานการขับเคลื่อน (Quick Win) ที่จะช่วยยกอันดับดัชนีและตัวชี้วัดที่อันจะส่งผลต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ ซึ่งนับเป็นบทบาทสำคัญของกระทรวงฯ ที่จะพาประเทศไทยเดินหน้าก้าวไปสู่เวทีโลกต่อไป

ในรอบปี 2561 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้นจากดัชนีระดับโลกของหลายสถาบัน ได้แก่ ดัชนี Global Competitiveness 4.0 ของ World Economic Forum (WEF) ความสามารถในการแข่งขันยุค 4.0 ซึ่งสะท้อนภาพการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล อยู่ในอันดับที่ 38 จาก 140 ประเทศ (ขยับขึ้น 2 อันดับจากปี 2560)  โดยในกลุ่มตัวชี้วัดพลวัตทางธุรกิจ (Business Dynamism) อยู่ในอันดับที่ 27 จาก 140 ประเทศ (ขยับขึ้น 8 อันดับจากปี 2560) ดัชนี World Digital Competitiveness ของ IMD มีผลการจัดอันดับในภาพรวม อยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ (ขยับขึ้น 2 อันดับจากปี 2560) โดยกลุ่มตัวชี้วัดด้านกรอบการพัฒนาทางเทคโนโลยี (Technological Framework) อยู่ในอันดับที่ 23 จาก 63 ประเทศ (ขยับขึ้น 7 อันดับจากปี 2560)

ดัชนี e-Government Development ของ UN มีผลการจัดอันดับในภาพรวม อยู่ในอันดับที่ 73 จาก 193 ประเทศ (ขยับขึ้น 4 อันดับจากปี 2559) โดยในดัชนีย่อยด้าน Online Service ภายใต้ดัชนี e-Government Development และดัชนี e-Participation ประเทศไทยได้รับจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาในระดับสูง ดัชนี Global Cybersecurity Index จัดทำโดย ITU ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จากการจัดอันดับครั้งล่าสุดในปี 2560 อยู่ในอันดับที่ 22 จาก 193 ประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับดีมาก

“ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญ ในเรื่องการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อน 5G และเดินหน้าการทดสอบภาคสนามในพื้นที่ EEC ซึ่งกระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการและทดสอบเทคโนโลยี 5G ขึ้น โดยมีองค์ประกอบ ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน มีการหารือแนวทางการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา  ได้นำภาคเอกชนและสื่อมวลชนเยี่ยมชมสถานที่ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ หารือแนวทางในการทดสอบเทคโนโลยี 5G รวมถึงมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการเรื่องการทดสอบเทคโนโลยี 5G ระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย” ดร.พิเชฐกล่าว

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลในลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์ทดสอบ 5G และการหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นสรุปว่าจะมีกลุ่มที่มีความต้องการใช้ (Use case) 5G ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของรถพยาบาลฉุกเฉินเคลื่อนที่ (Mobile Unit) และการสื่อสารกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล, กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มีความพร้อมในการทดสอบเทคโนโลยีเชื่อมต่อกับยานพาหนะซึ่งมีโรงงานอยู่ในพื้นที่ศรีราชาอยู่แล้ว, อุตสาหกรรมด้านสื่อและความบันเทิง โลจิสติกส์ และโรงงาน ยังมีความต้องการใช้เทคโนโลยีนี้ในกระบวนผลิตของตนอีกด้วย โดยแนวคิดหลักในการทดสอบที่มุ่งเน้นการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure  Sharing) ใช้ทรัพยากรลดลง แต่มีการใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยตอบโจทย์การสร้างนวัตกรรมตามความต้องการอย่างแท้จริง (Demand Side Innovation)

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...