นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามงานต่างๆ ของกระทรวง เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารได้ชี้แจงถึงแผนงานโครงการต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.มีแผนเร่งรัดสำคัญๆ หลายโครงการ โดยแผนงานต่างๆ สามารถแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1. โครงการทางอากาศ เริ่มที่โครงการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ มูลค่าโครงการ 200,000 ล้านบาท ของ บมจ.การบินไทย อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ขณะที่โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน (MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภา เงินลงทุน 10,588 ล้านบาท ร่วมกับกลุ่มแอร์บัสกรุ๊ป คาดว่าในเดือน มิ.ย.นี้ จะเร่งเจรจาร่วมทุนให้จบ
ส่วนอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ ให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เร่งรัดการก่อสร้างและการเบิกจ่ายที่ยังติดขัดอยู่ ขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 เงินลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงฯพิจารณา พร้อมไปกับเร่งทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ เพื่อดำเนินการเสนอให้ ครม.เห็นชอบต่อไป
ขณะที่โครงการ่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (Runway 3) เงินลงทุน 24,651 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอครม. และโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก (East-Wing) เงินลงทุน 7,000 ล้านบาท และสัญญางานก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมสำนักงาน เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท บอร์ดสภาพัฒน์ได้เห็นชอบให้ดำเนินการด้านตะวันออกก่อน เพราะครม.ได้มีมติตั้งแต่ปี2553 แล้ว จึงจะไปเริ่มดำเนินการในส่วน West Wing ในภายหลัง
2.ท่าเรือ โครงการเด่นคือ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F เงินลงทุน 84,361 ล้านบาท การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีผู้มาซื้อซองจำนวน 34 รายมีผู้ซื้อซองใหม่ถึง 9 ราย จะให้สรุปผลการพิจารณาภายในเดือน มี.ค.นี้ ส่วนการปรับปรุงท่าเรือระนอง อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างของ กทท.
และ 3. ระบบราง เริ่มที่โครงการรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา งานสัญญาที่ 2-1 งานโยธาสำหรับช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. หลังจากบริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 3,115 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางที่ 3,350 ล้านบาท คาดว่าจะลงนามในสัญญาก่อสร้างภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ส่วนงานที่เหลืออีก 12 สัญญาจะทยอยประกวดราคาให้ครบภายในเดือน พ.ค.นี้ ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ – หัวหิน กรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. เงินลงทุน 100,125 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน PPP เพื่อเสนอคณะกรรมการการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP)
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท อยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซี.พี.ในฐานะผู้เสนอให้รัฐอุดหนุนต่ำสุดที่สุด 117,227 ล้านบาท โดยนายสมคิดสั่งการให้การเจรจาต้องจบภายในเดือน ก.พ.นี้
ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่ 8 เส้นทาง โครงการที่จะนำเสนอครม.ได้เร็วที่สุดคือช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. เงินลงทุน 6.79 หมื่นล้านบาท จะเสนอครม.ภายในเดือน ก.พ.นี้ ส่วนอีก 7 เส้นทางอยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมให้กระทรวงและสภาพัฒน์พิจารณา คาดว่าภายในก.พ.-มี.ค. ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาพัฒน์ด้วย
ส่วนโครงการรถไฟฟ้า เริ่มที่่สายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) อยู่ระหว่างปรับข้อมูลเพื่อเสนอให้บอร์ด PPP พิจารณา ขณะที่สายสีแดง 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงเข้มช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. เงินลงทุน 6,500 ล้านบาท กับสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ได้เสนอครม.เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการบรรจุวาระ ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. เงินลงทุน 7,500 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามความเห็นของบอร์ดสภาพัฒน์ แต่คาดว่าจะเสนอครม.ตามไปในเร็วๆนี้
นายอาคม กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการอื่นๆ เพิ่มเติม โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร เงินลงทุน 31,244 ล้านบาท คาดว่าจะประกวดราคาได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ ขณะที่แผนฟื้นฟู ขสมก. โดยเป็นการจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้า (EV) และ NGV อีก 2,700 คัน จะเสนอครม.ภายในเดือน มี.ค.นี้ เนื่องจากต้องรอความเห็นของบอร์ดสภาพัฒน์ก่อน ส่วนการรับมอบรถเมล์ NGV 489 คัน จะรับมอบครบทั้งหมดภายในเดือน มี.ค.