กรมวิชาการเกษตร จัดทีมสแกนโรคใบด่างมันสำปะหลังฤดูกาลใหม่ เน้นหนักพื้นที่เสี่ยงมากกับพื้นที่เสี่ยงปานกลาง วอนเกษตรกรร่วมด้วยช่วยกันใช้ท่อนพันธุ์มันสะอาดจากโคราช 4 อำเภอ พร้อมหมั่นสำรวจแปลงปลูกทุก 2 สัปดาห์ หากพบต้นที่แสดงอาการต้องสงสัยให้ถอนทำลายทันที
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2558-2561 กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) เพื่อป้องกันไม่ให้โรคดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากเป็นโรคที่ทำให้ผลผลิตเสียหายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญสามารถเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต โดยกรมวิชาการเกษตรได้เข้มงวดการนำเข้ามันสำปะหลัง และสร้างการรับรู้โดยประชุมชี้แจงกับผู้เกี่ยวข้อง พร้อมกับจัดทำมาตรการด้านวิชาการ ด้านกฎหมาย และแผนปฏิบัติการฉุกเฉินเตรียมไว้ในกรณีหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังเข้ามาในประเทศไทย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ในฤดูปลูกมันสำปะหลังในปีที่ผ่านมาจะยังไม่พบโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย แต่ในฤดูปลูกมันสำปะหลังปี 2562 นี้ กรมวิชาการเกษตรจะร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรและภาคเอกชน ดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องต่อไป โดยจะดำเนินการสำรวจในพื้นที่เสี่ยงมาก ได้แก่ พื้นที่ติดชายแดนในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างรวม 6 จังหวัด และแหล่งผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง และพื้นที่เสี่ยงปานกลาง ได้แก่ พื้นที่ติดชายแดนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนรวม 11 จังหวัด เนื่องจากเชื้อไวรัสสาเหตุโรคใบด่างสามารถติดมากับท่อนพันธุ์และมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นแมลงพาหะจึงทำให้มีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสนี้จะแพร่เข้ามาในประเทศไทยได้
นอกจากสั่งการให้ด่านตรวจพืชเข้มงวดบริเวณชายแดนอย่าให้มีการลักลอบนำท่อนพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์เข้ามาแล้ว กรมวิชาการเกษตรยังได้ดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังโรคใบด่าง SLCMV ในแหล่งผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง พบว่าแหล่งผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่สะอาด ได้แก่ อำเภอด่านขุนทด อำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา โดยไม่พบโรคใบด่างในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นเกษตรกรสามารถใช้ท่อนพันธุ์จากพื้นที่ดังกล่าวในการปลูกผลิตมันสำปะหลังในฤดูกาลผลิตในปีนี้ได้ และอย่าลักลอบนำท่อนพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาเนื่องจากอาจจะมีโรคใบด่างติดเข่ามากับท่อนพันธ์ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดในฤดูปลูกต่อมาได้
“ที่สำคัญเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังทุก 2 สัปดาห์ หากพบต้นที่แสดงอาการต้องสงสัยให้ดำเนินการถอนทำลายต้นที่ต้องสงสัยและต้นข้างเคียงในพื้นที่ 4x4 เมตร (ไม่เกินจำนวน 16 ต้น) โดยวิธีฝังกลบในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 2-3 เมตรทำการกลบด้วยดินหนาไม่น้อยกว่า 0.5 เมตร และพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ ด้วยสารเคมี อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% SL อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ในแปลงที่พบอาการต้องสงสัยและแปลงใกล้เคียง เพื่อป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรคที่สำคัญ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว