มกอช.เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระพิรุณ เชื่อมโยงสถานีบริการ NGV ปตท. ค่ายทหาร และโรงเรียน ดันสินค้าเกษตรปลอดภัยผ่านระบบ DGT Platform พร้อมพัฒนาเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน GAP ด้วย Q อาสา
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ได้ดำเนินการพัฒนา www.DGT Farm.com หรือ DGT Platform และในฐานะผู้กำกับดูแลเรื่องมาตรฐาน จะต้องผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่ DGT Platform มากขึ้น ส่วนการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ NGV Marketplace ภายใต้โครงการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิทัล 4.0 (ยุทธศาสตร์พระพิรุณ) ร่วับมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ก็คือ Official Platform โดยใช้สถานีบริการ NGV ปตท. เป็นจุดรองรับการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร ที่มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรอง และจะมีการพัฒนาเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น
รวมทั้งเชื่อมโยงกับเทศบาลเมืองบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีโรงเรียนในการกำกับดูแล ที่จะนำอาหารที่มีคุณภาพเข้าสู่โรงอาหาร ซึ่งสามารถเลือกซื้อสินค้าเกษตรจาก DGT Platform หรือ Official Platform ของ NGV และยังเชื่อมโยงกับกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ ซึ่งเป็นค่ายทหาร ในแต่ละวันมีการบริโภคอาหารของทหาร 1,000 กว่านาย จะมีการนำอาหารที่ได้มาตรฐานเข้าสู่โรงอาหารค่ายทหาร โดย มกอช.เป็นผู้เชื่อมโยงให้เกษตรกรนำสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานเข้าสู่ทั้ง 2 Platform นี้
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 มี.ค.62 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชลบุรี อาทิ พาณิชจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ และสนับสนุนเกษตรกรนำสินค้าเกษตรเข้ามาสู่ทั้ง 2 Platform ทั้งนี้ มกอช.ในฐานะศูนย์กลางด้านมาตรฐาน พยายามเป็นตัวกลางเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้มีการขับเคลื่อนให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยการจัดทำโมเดลแพ็กเกจขึ้น คือ DGT Platform และ Official Platform
"โครงการ NGV Marketplace ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดทำโมเดล ถ้าประสบความสำเร็จ กระทรวงเกษตรฯ และ ปตท. ก็อาจจะมีการขยายเพิ่มพื้นที่ขึ้นในอนาคต โดยเน้นคัดเลือกสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมสินค้าเกษตรแปรรูปให้เข้าสู่ระบบ DGT Platform เพื่อยกระดับเกษตรกรมากขึ้น"เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ปัจจุบัน มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP กว่า 1,000 ราย แต่ยังเป็นจำนวนไม่มาก ถ้าเทียบกับเกษตรกรทั้งประเทศ แต่การเข้าสู่มาตรฐานก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น เพราะผู้บริโภค ผู้ค้า เช่น ห้างโมเดิร์ทเทรด และเครือข่าย ได้ให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัย รวมทั้งมาตรฐาน GAP เป็นมาตรฐานทั่วไป ไม่ใช่มาตรฐานบังคับ จึงใช้ผู้บริโภคเป็นตัวกระตุ้นให้เกษตรกรตระหนัก และหันมาทำเกษตรที่มีความปลอดภัย และเข้ามาสู่มาตรฐานมากขึ้น
อย่างไรก็ดี กระบวนการรับรองมาตรฐาน มีขั้นตอนจำนวนมาก รวมทั้งระบบการรับรองต้องใช้ Third Party หรือบุคคลที่ 3 เข้ามารับรองเพื่อเป็นที่ยอมรับของสากล ซึ่ง มกอช. เป็นหน่วย AB ที่ให้การรับรองหน่วย CB คือ หน่วยตรวจรับรอง มีทั้งภาครัฐ เช่น กรมวิชาการ กรมประมง กรมปศุสัตว์ และภาคเอกชน ที่เรียกว่า CB เอกชน และได้มีนโยบายการถ่ายโอนภารกิจให้กับ CB อีกด้วย จึงเห็นได้ว่า ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ได้ร่วมกันรับรองมาตรฐานในระบบ Third Party มากขึ้น
ทั้งนี้ มกอช.ยังได้จัดทำโครงการ Q อาสา โดยส่งเสริมเกษตรกรที่มีศักยภาพ เป็นพี่เลี้ยงสอนเพื่อนเกษตรกร มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน GAP เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจรับรอง GAP ก็จะง่ายขึ้น และรวดเร็วกว่าเดิม ซึ่งเป็นการลดภาระของเจ้าหน้าที่ มกอช.ที่มีไม่เพียงพอในการลงไปดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการผลักดันเกษตรกรทั่วประเทศเข้าสู่มาตรฐาน GAP ภายใน 2 ปี