กระทรวงเกษตรฯ จับมือภาคเอกชนและนักวิชาการ เสนอผลการศึกษายืดอายุผลไม้ด้วยห้องเย็นชุมชน เล็งนำร่องส่งออก “ลำไย” ไปจีน แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด-ราคาตกต่ำ
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาการยืดอายุผลไม้ด้วยห้องเย็นชุมชน และพิธีเปิดการค้าขายลำไยตามข้อตกลงความร่วมมือภายใต้ผลการศึกษาการยืดอายุผลไม้ด้วยห้องเย็นชุมชน ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี ตำบลเขาวัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัจจุบันปัญหาการเน่าเสียของผลไม้ยังคงเป็นปัญหาหลักที่เกษตรกร ผู้ค้า และผู้ส่งออกยังต้องประสบ เนื่องจากการส่งออกผลไม้ไทยไปยังต่างประเทศต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งมากกว่าอายุของผักและผลไม้ จึงมีการนำสารเคมีเข้ามาช่วยยืดอายุผลผลิตทางการเกษตร เช่น การอบกำมะถันในลำไยก่อนการส่งออก ทำให้มีสารเคมีตกค้าง กลายเป็นอุปสรรคในการยกระดับคุณภาพสินค้าและการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ในช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดพร้อมกัน ยังทำให้เกิดภาวะผลผลิตล้นตลาด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6จังหวัดจันทบุรี บริษัท ซีเทค สิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี จึงร่วมกันปฏิบัติการวิจัยทดสอบการศึกษาการยืดอายุผลไม้ด้วยห้องเย็นชุมชน โดยการทดสอบดังกล่าวสืบเนื่องจากผู้แทนของบริษัท เพาเวอร์ ยูนิตี้ส์กรุ๊ป จำกัด ได้นำคณะนักลงทุนจากประเทศจีน เข้าหารือกับทางกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยมีความสนใจที่จะซื้อลำไยผลสดที่ปราศจากสารกำมะถัน ในปีการผลิต 2561/2562 จำนวน 100,000 ตัน เพื่อไปจำหน่ายในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน และประเทศอื่นๆ ตามเส้นทางสายไหม สู่ประเทศเยอรมนี โดยคณะผู้ลงทุนดังกล่าวได้ค้นพบและพัฒนาเครื่องมือที่ใช้เพื่อการยับยั้งการเกิดและขยายตัวของเชื้อโรคที่จะทำให้ผลไม้ไม่เน่าเสียง่าย เพื่อควบคุมการหายใจของผลไม้ โดยเลือกจังหวัดจันทบุรี เป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินการทดสอบชุดเครื่องมือกับผลลำไยสด
ทั้งนี้ ผลการทดสอบดังกล่าวเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะการเก็บรักษาและยืดอายุความสดของลำไย ที่อยู่ในภาคตะวันออกของไทย ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ผลผลิตมีอายุยาวนาน เพียงพอต่อระยะเวลาการขนส่ง โดยสามารถยืดอายุการเก็บลำไยได้ไม่ต่ำกว่า 21 วัน จากเดิมอยู่ได้เพียง 5-7 วันเท่านั้น จึงช่วยขยายการส่งออกได้มากขึ้น โดยผู้แทนบริษัทจากประเทศจีนได้รับทราบผลการทดสอบดังกล่าว และพร้อมจะทำเป็นบันทึกข้อตกลง (MOU) กับผู้แทนของรัฐบาลไทย เพื่อขอจัดซื้อลำไยในฤดูกาลผลิตประจำปี 2562/2563 นี้ จำนวน 100,000 ตัน และต่อเนื่องไปอีกเป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรชาวสวนลำไยของจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดอื่นๆ ของไทยต่อไปในอนาคต
“ประเทศไทยและประเทศจีนมีความเป็นพี่น้องกันมาช้านาน แต่มีจุดเด่นและความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน โดยจังหวัดจันทบุรีของไทย มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสมสำหรับการปลูกผลไม้ จึงเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและความพร้อมในการรองรับ นโยบายการค้า การลงทุนจากต่างประเทศที่มีความต้องการผลผลิตทางการเกษตรของไทย ขณะที่ประเทศจีนมีเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่ก้าวหน้ามากมีการพัฒนาห้องเย็นที่มีน้ำหนักเบา โดยใส่เทคโนโลยีชีวภาพในห้องเย็น เพื่อเก็บรักษาความสดของสินค้าไว้ได้นาน
อย่างไรก็ตาม ความซื่อสัตย์เป็นหัวใจสำคัญของการค้าขาย หากทั้ง 2 ประเทศได้ดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมกัน ตลอดทั้งผนึกกำลังส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรด้วยความซื่อสัตย์ต่อกัน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกลำไยของไทยเละพืชผลอื่นๆ ในการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่สำคัญจะช่วยส่งเสริมให้ผลผลิตลำไยของไทยมีคุณภาพมาตรฐาน และมีความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนให้ภาคเกษตรกรของประเทศไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายวิวัฒน์ กล่าว