นางปริยากร ธรรมพุทธสิริ ผู้ผลิตและจำหน่าย หจก.รักษ์บ้านเรา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในจังหวัดสงขลามีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ขึ้นชื่ออยู่อย่างหนึ่งนั้นคือ ผ้าขาวม้าเกาะยอ ทางตนจึงได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับผ้าขาวม้ามาก่อน เพื่อฟื้นฟูผ้าท้องถิ่นนี้ให้คงอยู่ต่อไป ซึ่งตลอด 2 ปีที่ดำเนินธุรกิจมา ได้ลงมือทำเองเกือบทั้งหมดแต่ซตอนแรกที่ทำนั้นจะเป็นผ้าขาวม้าที่เป็นสีสังเคราะห์
ต่อมาได้เข้าร่วมกับทางศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่จังหวัดสงขลา เพราะเขาได้เข้ามาช่วยผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ พร้อมเสนอโครงการเกี่ยวกับใยสับปะรด รวมถึงของบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการให้กับตน จึงได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเดิมที่เป็นผ้าขาวม้าที่ใช้เนื้อผ้าธรรมดา ๆ เปลี่ยนเป็นใช้ใยสับปะรดแทนและปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เคยใช้สีสังเคราะห์ในการย้อมผ้าก็ได้เปลี่ยนมาใช้สีธรรมชาติในการย้อม นอกจากนี้การเปลี่ยนมาใช้ใยสับปะรดทำให้กระบวนการผลิตเป็นงานทำมือทั้งหมด ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูโดดเด่นมากขึ้น
ซึ่งจากศักยภาพของตัวสินค้าที่ดีขึ้น ทำให้ต่อมามีโอกาสไปออกงาน STYLE Bangkok ของทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งได้ผลตอบรับดีอย่างมากและไม่เคยทำได้มาก่อน นั้นคือการเจาะตลาดต่างประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นและ สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ โดยพวกเขาให้ความสนใจมาก ยิ่งทราบว่า ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างไม่ว่าจะเสื้อผ้า กระเป๋าหรือแม้กระทั้งรองเท้าได้ผลิตมาจากใยสับปะรดทั้งหมดแถมยังมีการออกแบบที่ทันสมัยสวยงาม พวกเขาก็ยิ่งสนใจมากขึ้น ทำให้เกิดการซื้อขายอีกด้วย
ทั้งนี้จากการปรับมาใช้ใยสับปะรดในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ก็มีความยากขึ้นในบางส่วน เนื่องจากต้องใช้แรงงานคนมากขึ้น ส่วนผ้าฝ้ายใช้เครื่องจักรทั้งหมด ขณะที่ผ้าใยสับปะรดต้องใช้คนทั้งหมดในการผูกต่อกันให้ยาว ซึ่งตอนนี้มีคนช่วยทำให้ทั้งหมด 10 คน สามารถต่อเส้นใยสับปะรดได้ประมาณ 3 กิโลกรัมต่อวันเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับสินค้าที่ตนต้องการผลิตและก็ไม่รู้ว่าจะไปหาซื้อเส้นใยสับปะรดได้ที่ไหน
ต่อมาทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา โดย น.ส.นงเยาว์ ศรีฉันทะมิตร ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการประกอบธุรกิจการค้าและการตลาดได้ประสานกับฝ่ายฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังเรือนจำกลางสงขลาได้ติดต่อมาที่กลุ่มหจก.รักษ์บ้านเรา เพื่อให้ตนเข้าไปอบรมวิชาชีพการต่อเส้นใยสับปะรดเพื่อนำไปทอเป็นผืนผ้าเพื่อการส่งออก โดยผู้ต้องขังที่มีความสนใจสมัครเข้าทำงานรับจ้างแรงงานต่อเส้นใยสับปะรด เป็นการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังมีงานทำระหว่างต้องโทษและนำไปประกอบอาชีพได้ โดยผู้ต้องขังที่เข้ามาช่วยเหลือจะได้รายได้ 500 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งมีผู้ต้องขังสนใจกว่า 48 คน เข้ามาต่อเส้นใยสับปะรดซึ่งคาดว่าจะทำให้ต่อเส้นใยสับปะรดได้มากขึ้นอีก 21 กิโลกรัมต่อวัน
“ซึ่งการที่ได้ทางผู้ต้องขังมาช่วยนั้นทำให้ตนสามารถไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยตอนนี้ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นเป็นรูปแบบคอลเลคชั่น มีกระเป๋า รองเท้า กระเป๋าสตางค์ ซึ่งจะเหมาะสำหรับคนที่ชอบผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติและชอบความเรียบง่ายที่มีสไตล์ ส่วนผลิตภัณฑ์เสื้อผ้านั้นยังไม่ยังไม่ได้เน้นช่วงนี้ เพราะปัจจุบันการจับเส้นใยสับปะรดมาผูกต้องใช้ปริมาณ 5-20 เส้น จึงเหมาะสำหรับการทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้งานเช่น กระเป๋าหรือรองเท้ามากกว่า แต่ถ้าสามารถพัฒนาจับเส้นใยสับปะรดมาผูกด้วยเส้นเดียวจะมีความโปร่งกว่าไหมเสียอีก เหมาะที่จะมาทำเป็นเสื้อผ้าได้” ปริยากร กล่าว
ปริยากร เผยอีกว่า ตอนนี้ได้มีออเดอร์เข้ามาแล้วซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าได้สูงถึง 2.5 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้นี้เป็นพียงออเดอร์จากในประเทศเท่านั้น นอกจากนี้ตนยังได้มีโอกาสไปเข้าร่วมงาน STYLE Bangkok ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะจัดเร็ว ๆ นี้อีกด้วย