พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงความสำคัญของภาคธุรกิจ SMEs ว่าเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจให้ ก้าวหน้าไปอย่างเข้มแข็ง และมั่นคง โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการถึง 3 ล้านราย ครอบคลุมการจ้างงานถึง 11 ล้านคน สร้างมูลค่าที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมถึง 5 ล้านล้านบาท จึงตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานในสถานประกอบการSMEs ตามนโยบาย 3 A ของกระทรวง และไทยแลนด์ 4.0 โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จัดทำโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ Thailand 4.0 โดยใช้องค์ความรู้จากศาสตร์ต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ และ วิศวกรรมศาสตร์ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ลดต้นทุนและความสูญเสียในขั้นตอนการผลิต ช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2556 – 2561 ช่วยพัฒนาศักยภาพแรงงานกว่า 85,000 คน ให้มีความรู้ความสามารถในทักษะที่หลากหลาย (Multi Skilled) รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลดความสูญเสียในวงจรการผลิตกว่า 5,400 ล้านบาท และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่สถานประกอบการอีก 1,103 แห่ง
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า ทั้งนี้ ในปี 2562 กพร. ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Intenet of thing ) หรือระบบ IOT ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในธุรกิจ SMEs OTOP และวิสาหกิจชุมชน เพื่อขับเคลื่อนโครงการ ให้เกิดสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม โดยมีการดัดแปลงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ในภาคเกษตรกรรม เช่น เครื่องรดน้ำ เครื่องให้อาหารสัตว์ เครื่องวัดอุณหภูมิ ปลั๊กไฟและสวิตซ์ไฟฟ้า กล้องวงจรปิด ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์รับส่งสัญญาณ เพื่อให้ผู้ประกอบการ สามารถสั่งการทำงาน ตั้งเวลาเปิด ปิด อุปกรณ์ แบบอัตโนมัติ ผ่านแอพพลิเคชั่น โทรศัพท์มือถือ ช่วยลดของเสียและเพิ่มผลผลิต ให้มีคุณภาพ ก้าวสู่การเป็นเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farmer) ซึ่งจะต้องมีความรู้ทั้งด้านการเกษตรและเทคโนโลยีควบคู่กัน และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ โดยช่วงเดือนพฤษภาคม จะมีการนำร่องใช้ระบบดังกล่าวกับวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มแพะก้าวหน้า ราชบุรี”และวิสาหกิจชุมชน “ปันบุญ” จ.กาฬสินธุ์ โดยกพร.จัดส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ไปฝึกอบรมให้ความรู้ และติดตามประเมินผลการดำเนินการ เป็นระยะด้วย
อธิบดีกพร. ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อต่อยอดโครงการนี้ จะมีการประชุมหารือเพื่อพิจารณา ข้อดี ข้อด้อย และ ปัญหาข้อติดขัดที่ต้องแก้ไข จากนั้นจะจัดทำหลักสูตร และดำเนินการฝึกอบรมบุคลากร ของกพร. เพื่อนำไปให้คำปรึกษาแนะนำ และอบรมให้ความรู้ แก่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ SMEs OTOP และวิสาหกิจชุมชน เป็นการจูงใจ ผู้ประกอบกิจการในภาคธุรกิจ SMEs ให้เข้ามาร่วมโครงการเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งค้นคว้าต่อยอด นวัตกรรมใหม่เข้ามาช่วยในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานต่อไป.