คณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์และผลกระทบด้านสุขภาพจากหมอกควัน ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่
คณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อติดตามสถานการณ์และผลกระทบด้านสุขภาพจากหมอกควันภาคเหนือ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมแนะนำประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ควรใส่หน้ากากที่มีประสิทธิภาพป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กทุกครั้งขณะอยู่กลางแจ้ง และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อติดตามสถานการณ์และผลกระทบด้านสุขภาพจากหมอกควันภาคเหนืออย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ในช่วงนี้บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ประสบปัญหาจากหมอกควันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นป่าเขา จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าได้ง่าย ประกอบกับมีการเผาขยะต่างๆ และเผาเศษวัชพืชตามไร่สวนเพื่อเตรียมที่ดินไว้สำหรับทำการเกษตร ทำให้มีผลกระทบด้านสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว
กรมควบคุมโรค สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดของกรมควบคุมโรค ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน สำนักระบาดวิทยา สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก ประกอบด้วยผู้บริหารกรมควบคุมโรค และคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อติดตามสถานการณ์และผลกระทบด้านสุขภาพจากหมอกควันภาคเหนืออย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควัน รวมถึงสนับสนุนวัสดุ เช่น หน้ากากอนามัย และยาแก้แพ้ต่างๆ แก่หน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อพิจารณานำไปใช้ให้เหมาะสมตามความจำเป็นกับกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ปัญหาหมอกควันดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงป่วยจาก 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว 2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ 3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย และ 4.กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา ตาแดง น้ำตาไหล และมองภาพไม่ค่อยชัด ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น หากได้รับมลพิษจากหมอกควันเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป โดยขอแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ควรใส่หน้ากากที่มีประสิทธิภาพป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กทุกครั้งขณะอยู่กลางแจ้ง และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่อง สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422