วันที่ 16 เม.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562, พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562, พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562, พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 , พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
สำหรับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 ระบุถึงสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร โดยกำหนดให้มีเขตละ 1 คน แต่ถ้าเขตใดมีราษฎรเกิน 150,000 คน ให้มี ส.ก.เพื่ออีก 1 คน และถ้าเศษเกิน 75,000 คนก็ให้มี ส.ก.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน
อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 24 ของกฎหมาย ระบุว่า “ให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ในระหว่างที่กฎหมายตามวรรคหนึ่งยังไม่มีผลใช้บังคับ มิให้นำมาตรา 71 -80 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาใช้บังคับ”
ซึ่งมาตราดังกล่าว ระบุถึง สภาเขต คุณสมบัติสมาชิกสภาเขต การเลือกตั้ง และอำนาจหน้าที่ของสภาเขต เท่ากับว่า ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้จะยังไม่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ข.จนกว่าจะมีการปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ
สำหรับแนวคิดการยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ข. มาจากข้อเสนอของ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยก่อนหน้านี้มีการระบุว่า หากเทียบกับองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบอื่น กทม. จะมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติอยู่แล้ว ส่วน ส.ข. มีอำนาจหน้าที่เพียงให้ข้อคิดเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนพัฒนาเขตต่อผู้อำนวยการเขตและสภากรุงเทพมหานคร และที่ผ่านมามีประชาชนสนใจไปเลือกตั้ง ส.ข.ไม่มากนัก
ขณะที่พรรคการเมืองที่มีฐานเสียงใน กรุงเทพฯ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก ส.ข.