นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลทุเรียนตามโครงการศึกษาบทบาทของผู้ประกอบการธุรกิจผลไม้ที่มีต่อ ผลไม้ไทย ในจ.จันทบุรี ระยอง และตราด พบว่า ผลผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพส่วนใหญ่เกษตรกรจำหน่ายแบบเหมาสวนให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุทุเรียน (ล้ง) ที่ให้ราคาดีกว่า เพื่อส่งออกไปตลาดจีน โดยผลผลิตที่มีคุณภาพเกรด A และเกรด B ส่วนใหญ่บรรจุกล่องส่งออกตลาดจีน และเกรดพรีเมี่ยมส่งห้างสรรพสินค้าภายในประเทศ เช่น Tops, Makro และ The Mall โดยผลผลิต เกรด A และ เกรด B ราคารับซื้อเหมาสวน อยู่ที่กก.ละ 115-130 บาท เกรด C กก.ละ 90 บาท และเกรดรวม (คละไซส์ทุกลูก) กก.ละ 120 บาท ขณะที่เกรดพรีเมียม กก.ละ 135-140 บาท ส่วนผลผลิตตกเกรดซึ่งส่วนใหญ่ กระจายตลาดภายในประเทศ อยู่ที่กก.ละ 85 บาท
ทั้งนี้ เกษตรกรมีแนวโน้มขายทุเรียนแบบออนไลน์ผ่าน Facebook และ Line มากขึ้น มีการรับประกันคุณภาพและจัดส่งผ่านบริษัทไปรษณีย์ไทย และบริษัท เคอรี่ จำกัด ทำให้เกษตรกรได้ราคาจำหน่ายสูงกว่าตลาดทั่วไป และหากขายยกกล่องตามน้ำหนักสามารถคละเกรดในการจำหน่ายได้ด้วย รวมถึงการขายแบบเหมาต้นทุเรียนในสวนราคา กก.ละ 150 บาททุกลูก อย่างไรก็ตาม นอกจากล้งจะเป็นผู้รวบรวมผลผลิตรายใหญ่จากเกษตรกรในพื้นที่แล้ว สหกรณ์การเกษตรในภาคตะวันออกก็มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมผลผลิตทุเรียนจากเกษตรกรสมาชิก เป็นตัวกลางซื้อขายผลผลิต และการคัดคุณภาพระหว่างเกษตรกร และบริษัทคู่ค้าด้วย โดยมีการรับรองคุณภาพมาตรฐาน ตรวจสอบย้อนกลับได้ ทำให้ราคาที่เกษตรกรได้รับสูงกว่าตลาดทั่วไป และหากเกษตรกรรายใดที่มี GAP จะได้ราคาจำหน่ายเพิ่มอีกกก.ละ 2 บาท ที่สำคัญบางสหกรณ์มีห้องเย็นแปรรูปเป็นทุเรียนแช่แข็ง และแกะเปลือกส่งออกตลาดต่างประเทศ เช่น จีน และสหรัฐ อีกทั้งรองรับผลผลิตที่ตกเกรดจากการส่งออกได้ โดยราคารับซื้ออยู่ที่กก.ละ 50-60 บาท รวมไปถึงรับจ้างบรรจุภัณฑ์ (Packing) และให้เช่าสถานที่คัดบรรจุกับบริษัทส่งออก ในอนาคตคาดว่าการส่งออกทุเรียนแช่แข็งจะขยายตลาดได้อีก
จากข้อมูลของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี พบว่าขณะนี้มีเกษตรกรภาคตะวันออกที่จดทะเบียนรับรองแหล่งผลิต (GAP) ทุเรียนแล้ว 4,121 ราย รวมพื้นที่ 55,953.12 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึง 77% เป็นผลจากที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตรประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกอบการ และเกษตรกรถึงระบบการตรวจสอบคุณภาพผลไม้ของจีน ซึ่งจะเข้มงวดมากขึ้น ทำให้เกษตรกรตื่นตัวขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อยื่นยืนยันที่โรงคัดบรรจุมากขึ้น ส่วนโรงคัดบรรจุต้องผ่านมาตรฐาน GMP เพื่อยืนยันสำหรับการส่งออก โดยระบุรหัสโรงคัดบรรจุลงบนใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) ด้วยเช่นกัน