กระทรวงดิจิทัลฯ โชว์ความคืบหน้าโครงการขยายโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำรองรับไทยเป็น ‘ดิจิทัล ฮับ” ของภูมิภาคอาเซียน พร้อมออกแบบเคเบิลเส้นทางใหม่ให้มีจุดเชื่อมต่อที่สถานีเคเบิลใต้น้ำชลี 3 ศรีราชา ในบริเวณพื้นที่ EEC รับนักลงทุนด้านดิจิทัลทั่วโลกเข้ามาลงทุนเทคโนโลยีอนาคตแรง 5G, AI, Cloud, IoTs, Smart City, Big Data
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 2 : เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกระทรวงฯ เพื่อขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ให้มีแบนด์วิธใหญ่ขึ้นเท่าเทียมกับประเทศที่มีศักยภาพในการเป็น “ฮับ” ของภูมิภาคได้ โดยล่าสุด บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นผู้รับมอบหมายภารกิจนี้จากกระทรวงฯ ได้เร่งดำเนินโครงการเพื่อรองรับเป้าหมายและแล้วเสร็จบางเส้นทางแล้ว
นอกจากนี้ ในโครงการ ASEAN Digital Hub เคเบิลระบบใหม่ได้ออกแบบให้มีจุดเชื่อมต่อกับประเทศไทยที่สถานีเคเบิลใต้น้ำชลี 3 ศรีราชา ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการ Digital Park Thailand ซึ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมพิเศษตามนโยบาย EEC สำหรับรองรับนักลงทุนด้านดิจิทัลประเทศไทยและจากต่างประเทศ
โดยจากจุดเชื่อมต่อนี้สามารถเชื่อมต่อตรง (Direct Route) จากประเทศไทยไปยังฮ่องกงและสิงคโปร์ จึงเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของโครงการ Digital Park Thailand เตรียมความพร้อมรองรับการเข้ามาลงทุนธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น 5G, AI, Cloud, IoTs, Smart City, Big Data รวมถึงเป็นจุดสนใจสำหรับผู้ประกอบกิจการคอนเทนต์ระดับโลก
“ประเทศไทยตั้งอยู่ ณ จุดภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งมีการเติบโตของอินเทอร์เน็ตทราฟิกสูง อีกทั้งประเทศไทยมีการใช้งานดิจิทัลคอนเทนต์จำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น เมื่อรวมปริมาณอินเทอร์เน็ตทราฟิก และดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) เข้าด้วยกัน นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ประกอบกิจการคอนเทนต์ (Content Provider) รายใหญ่ให้มาตั้งฐานข้อมูลในประเทศไทย ใช้งานผ่านโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำที่ได้ขยายความจุไว้พร้อมรองรับ หนุนเสริมศักยภาพประเทศไทยที่จะก้าวสู่การเป็น ASEAN Digital Hub ตอนบนได้อย่างมั่นคง” นางสาวอัจฉรินทร์กล่าว
สำหรับโครงการดังกล่าว กระทรวงฯ มอบหมายให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการ 3 กิจกรรมย่อยโดยทุกกิจกรรมได้มีความคืบหน้าที่สอดคล้องกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลดิจิทัลอาเซียน และส่งเสริมศักยภาพของไทยให้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านของอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล
กิจกรรมที่ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ คือกิจกรรมย่อยที่ 1. การขยายความจุโครงข่ายภายในประเทศเชื่อมโยงไปยังชายแดน เพื่อเชื่อมต่อประเทศกัมพูชา ลาว และ เมียนมา รวมความจุที่ขยายเพิ่ม 2300 Gbps อยู่ระหว่างการทดสอบและติดตั้งอุปกรณ์ใน 151 สถานีทั่วประเทศ และกิจกรรมย่อยที่ 2. การขยายความจุระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่มีอยู่ในเส้นทางสิงคโปร์ จีน (ฮ่องกง) และสหรัฐอเมริกา จำนวน 3 ระบบ คือ AAG, APG, FLAG โดยรวมความจุที่ขยายเพิ่ม 1,770 Gbps ซึ่ง CAT ได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วสามารถรองรับปริมาณทราฟิกทั้งประเทศซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7,512 Gbps รวมถึงการใช้งานที่จะเพิ่มในอนาคต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เกิดการสร้างงานและธุรกิจใหม่ สร้างโอกาสในการศึกษาและสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตลดลง เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐที่เป็นประโยชน์
สำหรับกิจกรรมย่อยที่ 3 การลงทุนก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่เพื่อเชื่อมโยงประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งต้องมีการดำเนินงานในรูปแบบ Consortium ระหว่างประเทศสมาชิก ล่าสุดผ่านการเสนอต่อ ครม.รับทราบและอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยคาดว่าจะมีการลงนามในเอกสารข้อตกลงระหว่างภาคีสมาชิกภายในเดือนกรกฎาคม 2562 และลงนามสัญญาจ้างภายในเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถทดสอบระบบรวมถึงส่งมอบสิทธิการใช้งานให้กระทรวงดีอีภายในปี 2564
ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างระบบเคเบิลระบบใหม่แล้วเสร็จ จะเพิ่มเสถียรภาพความมั่นคงในการเชื่อมต่อของภูมิภาคอาเซียนและมีส่วนช่วยสนับสนุนการเป็น ASEAN Digital Hub ของไทย โดยจะเพิ่มปริมาณความจุและเส้นทางเชื่อมโยงผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำไปจีนและฮ่องกงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเส้นทาง ส่งผลให้ประเทศไทยมีโครงข่ายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างไทยกับจีนมีความหลากหลายมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น สามารถรองรับความต้องการใช้งานที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มความจุและจัดสร้างเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ดังกล่าว จึงนับเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มประเทศอาเซียน (ไทย+CLM) กับประเทศจีน (ฮ่องกง) ทั้งทางบกและทางทะเล ยกระดับประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค