นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 ให้จัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงจังหวัด เพื่อป้องกัน ปราบปราม สกัดกั้น และขจัดการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง โดยให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงนำร่องใน 7 จังหวัด ต่อมาได้เพิ่มศูนย์ฯเป็น 15 จังหวัด รวมเป็น 22 จังหวัดชายทะเล เดิมศูนย์ประสานแรงงานประมงจังหวัดสตูลตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองติดกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดสตูล แต่มีผู้มาใช้บริการน้อย เนื่องจากที่ตั้งไม่ได้อยู่กึ่งกลางของอำเภอต่างๆ การจะติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการต้องเดินทางไกล ขณะเดียวกันสถานที่ท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ ต้องใช้ระยะเวลาเดินทางถึง 2 ชั่วโมง ประกอบกับนายจ้าง/สถานประกอบการในกิจการประมงและต่อเนื่องประมงส่วนใหญ่มีลูกจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ในพื้นที่อำเภอละงูและอำเภอทุ่งหว้า ซึ่งมีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 60-70 กิโลเมตร มีนายจ้างรวม 2 อำเภอกว่า 700 ราย/แห่ง มีแรงงานต่างด้าว 3,724 คน และคนไทย 5,539 คน ส่วนใหญ่เป็นกิจการโรงแรม ร้านอาหารและท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสตูล ทำให้มีความต้องการจ้างแรงงานมากกว่าอำเภออื่นๆ แต่ยังไม่มีจุดให้บริการในพื้นที่
ดังนั้น สำนักงานจัดหางานจังหวัดสตูลจึงได้ย้ายศูนย์ฯ แห่งใหม่มาที่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เพื่อให้บริการในการรับแจ้งเข้า-แจ้งออกการทำงานของคนต่างด้าว การเพิ่มนายจ้าง ยื่นความประสงค์การจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงานตามระบบนำเข้า MOU การให้คำปรึกษา การจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังให้บริการแก่ประชาชนด้านการส่งเสริมการมีงานทำ ทั้งในเรื่องการรับสมัครงาน การรับแจ้งตำแหน่งงานว่าง การรับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานให้แก่นายจ้าง/สถานประกอบการ นักเรียน นักศึกษา คนพิการ ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไป และยังได้นำตู้งาน (Job Box) มาให้บริการแบบครบวงจรอีกด้วย ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวก ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับผู้มารับบริการ
นอกจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดจะเปิดศูนย์ประสานแรงงานประมงแล้ว สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดยังได้เปิดฝึกอบรมหลักสูตรวิเคราะห์และซ่อมดูแลรักษาเครื่องยนต์เรือ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานแรงงานจังหวัดจัดกิจกรรมหมู่บ้านสวัสดิการสังคมเต็ม 100 % ทั้งยังสนับสนุนวิถีชีวิตชุมชนชาวประมง
พื้นบ้านแบบยั่งยืนของจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนภารกิจด้านแรงงานเชิงบูรณาการ ทั้งการอำนวยความสะดวก เน้นการให้บริการเชิงรุก เพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้ลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อราชการแก่ประชาชน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนซึ่งเป็นวัยแรงงานมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ในการประกอบอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายแรงงาน และมีหลักประกันทางสังคม ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงการให้บริการแบบเข้าถึงพื้นที่ และเข้าถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวลงสู่พื้นที่ให้ประชาชนได้รับบริการจากหน่วยงานต่าง ๆ มีเครือข่ายอาสาสมัครแรงงานแต่ละหมู่บ้านเป็นกลไกในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารและประสานงานกับประชาชนทุกหมู่บ้านในตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล สามารถได้รับบริการจากหน่วยงานอย่างทั่วถึง ทำให้ประชาชนได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานตามหลักสูตรสาขาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพในพื้นที่ชุมชนตนเอง สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และมีหลักประกันทางสังคมอย่างถ้วนหน้า ทำให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความมั่นคง เกิดความยั่งยืนต่อไป