ภายหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไป บรรยากาศการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ก็เริ่มคืบคลานเข้ามา ขณะเดียวกันก็เป็นการเริ่มนับถอยหลังการเข้ากุมบังเหียนของเจ้ากระทรวงต่างๆ ในรัฐบาลประยุทธ์ 1 อย่างไรก็ตาม หนึ่งในนั้นก็คือ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาแจกแจงผลงานของตนเองภายใต้นโยบาย“ตลาดนำการผลิต” ประสบผลสำเร็จในหลายเรื่อง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหลักๆ ทยอยปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นายกฤษฎา บุญราช เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 แทน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ที่ขยับไปนั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี โดยนโยบายที่รัฐมนตรีเกษตรฯ ผู้นี้นำมาใช้คือ “การตลาดนำการผลิต” เพื่อมุ่งสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นกับสินค้าเกษตร ซึ่งเขาเชื่อว่าจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น อันจะนำพาไปสู่รายได้ของเกษตรกรสูงขึ้นในทิศทางเดียวกันนั่นเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีเกษตรฯ ผู้นี้ได้ออกมาแจกแจงผลงานตลอดห้วงการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในหลายเรื่องด้วยกัน เริ่มตั้งแต่สินค้าเกษตรหลักๆ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ราคาปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องการแก้หนี้ให้แก่เกษตรกร ฯลฯ
โดยนายกฤษฎา ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทำให้เกษตรกรเร่งรอบการผลิตข้าวไม่คำนึงคุณภาพ ทำให้มีข้าวในสต๊อกปริมาณมาก ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ เกษตรกรขาดทุน ดังนั้น จึงได้ตั้งคณะทำงานวางแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรขึ้นมา เพื่อกำหนดปริมาณการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ โดยกำกับดูแลการปลูกข้าวไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตสูง รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับดินและน้ำ โดยใช้ Agri Map Application อีกทั้งจัดการระบายข้าวที่ค้างในสต๊อกให้หมดลง ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกขยับสูงขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ราคาตันละ 12,781 บาท เป็นตันละ 16,000 บาท ในปี 2562
สำหรับในปีการผลิต 2562/63 ยังคงกำหนดปริมาณการผลิตในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยกำหนดเป้าหมายพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวทั้งปี จำนวน 72.80 ล้านไร่ ผลผลิต 34.63 ล้านตันข้าวเปลือก ทั้งนี้ ยังสามารถปรับลดการผลิตข้าวในรอบที่ 2 ไปปลูกพืชอื่น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้อีก หากสถานการณ์ราคาข้าวอ่อนตัวลง
นอกจากนั้น ยังสร้างทางเลือกให้กับเกษตรกร ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ สนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนา โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต ซึ่งจะสามารถทดแทนการนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการฯ 82,316 ราย ในพื้นที่ปลูก 724,932 ไร่ มีรายได้สุทธิเฉลี่ย 2,000 - 3,000 บาท/ไร่ (ราคารับซื้อ 8 บาท/กิโลกรัม ตามราคาประกันของโครงการ) และผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้รับข้าวโพดคุณภาพดีในการแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ต่อไป ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงด้านรายได้ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ยังเป็นโครงการแรกของประเทศที่ไม่ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อการแทรกแซงราคา และไม่สร้างภาระงบประมาณภาครัฐ
สำหรับในเรื่องของยางพารา นายกฤษฎา เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตยางพาราเฉลี่ย 4.5 ล้านตันต่อปี แต่ภายในประเทศใช้เพียง 5 แสนต้นต่อปี ที่เหลือ 4 ล้านตันส่งออกต่างประเทศ ส่งผลให้ราคายางตกต่ำตามกลไกตลาดโลก จึงได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อาทิ การส่งเสริมการแปรรูปและเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ เช่น ถุงมือยาง รองเท้าเครื่องนอน สายพานลำเลียง แผ่นรองรางรถไฟ ท่อยาง อุปกรณ์จราจร บล็อกตัวหนอนสำหรับปูพื้นสนามกีฬา สนามเด็กเล่น และทางเท้า เป็นต้น เพื่อที่จะไม่พึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว พร้อมจัดให้มีมาตรการลดหย่อนภาษีผลิตภัณฑ์จากยางพารา และมาตรการจูงใจให้บริษัทสัญชาติไทยและบริษัทจากต่างประเทศลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ดำเนินมาตรการระยะกลางและระยะยาวเพื่อกระตุ้นราคายางโดยเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศ ที่สำคัญ คือ โครงการสร้างถนนผสมยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ความยาวถนนดินลูกรังที่อยู่ในแผนปรับเป็นถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราไร้ฝุ่นระยะทางยาง 300,000 กิโลเมตร ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะทยอยจัดทำถนนผสมยางแทนถนนลูกรังปีละ 50,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ ถนน 1 กิโลเมตรใช้ยางพารา 1.3 ตัน จึงคาดว่าปริมาณการใช้ในโครงการสร้างถนนจะไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านตัน นอกจากนี้ อปท. ยังนำยางพาราไปสร้างสนามกีฬาอีกด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ดำเนินมาตรการปรับลดพื้นที่ปลูกยางพาราที่มีอายุมากให้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มค่า โดยมีเป้าหมายลดพื้นที่ปีละ 500,000 ไร่ เพื่อให้ปริมาณการผลิตยางพาราของประเทศมีไม่เกิด 4 ล้านตัน เพื่อรักษาสมดุลอุปสงค์ อุปทาน และราคามีเสถียรภาพ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวทั้งด้านการเพิ่มความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศ และการปรับลดปริมาณพื้นที่ปลูกทำให้ราคายางพาราปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2561 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 42.91 บาท เป็นราคา 55.89 บาทต่อ กก. (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มิ.ย. 62)
นอกจากนี้ นายกฤษฎา ยังได้เปิดเผยถึงความสำเร็จการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยว่า จากเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีเกษตรกรเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 6.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ได้ขึ้นทะเบียนหนี้ จำนวน 468,558 ราย วงเงินเป็นหนี้ 85,823.93 ล้านบาท เป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติที่จะดำเนินการจัดการหนี้ได้จำนวนทั้งสิ้น 55,515 ราย วงเงินเป็นหนี้ 9,796 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เชิญเจ้าหนี้เหล่านี้ ซึ่งมีสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนรวมถึงสถาบันเกษตรกรมาพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน พร้อมกำหนดมาตรการ ประกอบด้วย 1. การแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วน มีเกษตรกรที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ 4,643 ราย สามารถเจรจาเจ้าหนี้ชะลอการดำเนินการทางกฎหมายได้ 2,299 ราย เกษตรกรแจ้งดำเนินการชำระหนี้ด้วยตนเองแล้ว 158 ราย ส่วนที่เหลืออีก 1,742 ราย เป็นกรณีที่ไม่เข้าสู่กระบวนการเจรจา
2. กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกฯ ในแต่ละกลุ่ม ประกอบด้วย เกษตรกรที่มีคุณสมบัติได้อนุมัติให้กองทุนฯ ดำเนินการจัดการหนี้ให้กับเกษตรกร จำนวน 1,518 ราย วงเงินเป็นหนี้รวม 642.54 ล้านบาท และกรณีที่เกษตรกรขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์จัดการหนี้ ได้เจรจากับเจ้าหนี้แต่ละสถาบัน จนสามารถแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรลูกหนี้ได้ คือลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 36,605 ราย วงเงินหนี้ 6,382.67 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงค้างอีก 3,829.38 ล้านบาท ธ.ก.ส.ยินยอมปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ โดยมีเกษตรกรแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 18,149 ราย ไม่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ 14,856 ราย และยังไม่แจ้งความประสงค์ 3,600 ราย
ลูกหนี้ของธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งเป็นหนี้นอกภาคเกษตร ได้เจรจากับผู้บริหารของทั้ง 2 ธนาคาร ขอให้ช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้ 2,389 ราย วงเงิน 630.59.ล้านบาท โดยนำแนวทางที่ ธ.ก.ส.จะดำเนินการมาใช้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกสมาคมธนาคารไทย ได้เจรจาจนได้รับการยืนยันลดหนี้ให้ ชำระเพียงร้อยละ 50 โดยมีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติที่ กฟก.จะซื้อหนี้ได้ 120 ราย วงเงิน 51.44 ล้านบาท และที่กองทุนของกระทรวงเกษตรฯ จะให้การช่วยเหลือ 573 ราย วงเงิน 383.45 ล้านบาท
ลูกหนี้ของสหกรณ์การเกษตร มีสมาชิก กฟก.เป็นหนี้ 15,973 ราย วงเงิน 2,345.01 ล้านบาท ได้เจรจากับสหกรณ์เจ้าหนี้ ปรากฏว่ามีสหกรณ์ยินยอมให้ กฟก.ชำระหนี้แทนเกษตรกรได้ 238.สหกรณ์ สมาชิก 1,398 ราย วงเงิน 599.10 ล้านบาท ปัจจุบันได้อนุมัติให้มีการซื้อหนี้แล้ว 451 ราย วงเงิน 302.32 ล้านบาท
และการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้อนุมัติโครงการฯ ให้กับองค์กรเกษตรกร 665 โครงการ เกษตรกรเข้าร่วม 10,659 ราย วงเงิน 67.03 ล้านบาท นอกจากนี้ ได้จัดทำโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกรภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในปี 2560 จำนวน 1,114 โครงการ เกษตรกรได้รับการฟื้นฟู จำนวน 17,532 ราย วงเงินช่วยเหลือ 33.38 ล้านบาท รวมทั้งได้อนุมัติโครงการฟื้นฟูอาชีพให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เสนอโครงการด้วยตนเอง ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรของพระราชา บ้านแหลมยาง จ.นครสวรรค์ - กำแพงเพชร สมาชิก 580 ราย วงเงิน 15 ล้านบาท
นับเป็นผลงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ในรอบ 3 ปี ที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวได้มากกว่า 20,000 ราย โดยภาครัฐไม่ต้องใช้งบประมาณในการชดเชย เป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้กับเกษตรกรรวมทั้งมีการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน