ร.ฟ.ท.เปิด 3 โปรเจคสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ประเดิมช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด ลงทุน 5-6 หมื่นล้าน ประมูลปี 2564 หนุนการขนส่งอีอีซี เชื่อม 10 นิคมอุตสาหกรรม กระตุ้นท่องเที่ยวชายทะเล เร่งของบออกแบบทางคู่ชุมพร-ระนอง เสริมท่าเรือน้ำลึกเอสอีซี
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้นอกจากการผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่ สายชุมทางศรีราชา-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ เพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
“การศึกษาเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เพื่อผลักดันการขนส่งเข้าอีอีซีด้วย ดังนั้นมั่นใจว่าโครงการนี้จะถูกพัฒนาในเร็วๆ นี้ เพื่อทันต่อการพัฒนาในเขตอีอีซี คาดว่าปี 2563 จะเริ่มออกแบบก่อสร้าง และหลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่ช่วงเปิดประมูลจัดหาเอกชนก่อสร้าง โดยเป้าหมายส่วนใหญ่เพื่อขนส่งสินค้าเชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง รวมไปถึงสนับสนุนการเดินทางเชื่อมต่อในพื้นที่ และการท่องเที่ยวภาคตะวันออกด้วย”
นอกจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว ร.ฟ.ท.ยังศึกษาความเหมาะสมพัฒนารถไฟทางคู่เชื่อมต่อศรีราชา-มาบตาพุด คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 เพื่อขออนุมัติงบออกแบบก่อสร้าง โดยเส้นทางสายนี้จะช่วยสนับสนุนการขนส่งสินค้าระหว่างเขตอุตสาหกรรมและท่าเรือ ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เปลี่ยนการขนส่งจากรถยนต์ทางถนน เป็นระบบราง ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.ยังอยู่ระหว่างศึกษาเส้นทางชุมพร-ระนอง เพื่อเชื่อมการขนส่งเข้าท่าเรือน้ำลึกระนองด้วย
ทั้งนี้ ยังรายงาข่าวจาก ร.ฟ.ท.เปิดเผยด้วยว่า เส้นทางรถไฟสายใหม่ ช่วงศรีราชา-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ เบื้องต้นจะมีระยะทางยาว 250 กิโลเมตร เป็นรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน 1 เมตร ประเมินงบประมาณในการลงทุนอยู่ที่ 5-6 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันการศึกษาเส้นทางแล้วเสร็จไปราว 90% คาดว่าจะภายในเดือน มิ.ย.นี้ จะเสร็จสมบูรณ์ ก่อนเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อของบประมาณปี 2563 ราว 120-150 ล้านบาท มาดำเนินการออกแบบรายละเอียดก่อสร้าง
โดยขณะนี้เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่แนวเส้นทาง แต่ก็ยังไม่ได้บทสรุปว่าจะเลือกแนวเส้นทางไหน โดยมีทางเลือกอยู่ 3 เส้นทาง ซึ่งอาจจะต้องรอประเมินจากตัวเลขความคุ้มค่าแต่ละเส้นทางก่อน ซึ่งคาดว่าเดือนหน้าก็น่าจะเสร็จ
ทั้งนี้ หาก ร.ฟ.ท.ได้รับงบประมาณออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบราว 1 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มขั้นตอนประมูลหาผู้รับเหมา คาดว่าจะประมูลได้ช่วงกลางปี 2564 และจะสามารถเร่งรัดเริ่มงานก่อสร้างในช่วงปลายปีเดียวกัน โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในช่วงปี 2568-2569 โดย ร.ฟ.ท.มั่นใจว่ารถไฟสายใหม่นี้ จะเป็นเสมือนแขนขาของอีอีซี เชื่อมการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะผลไม้ในจ.จันทบุรีไปยังท่าเรือแหลมฉบังสะดวกขึ้น
สำหรับแนวเส้นทางรถไฟทางคู่เส้นทางศรีราชา-ตราดแบ่งเป็น 3 ช่วง คือช่วงที่ 1 ชุมทางศรีราชา-สถานีระยอง ซึ่งจะเป็นเส้นทางเชื่อมนิคมอุตสาหกรรมสู่นิคมอุตสาหกรรม 10 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 1-3 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง นิคมอุตสาหกรรมโรจนะบ่อวิน นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมเหมราชระยอง
ช่วงที่ 2 เป็นเส้นทางเชื่อมนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองระยอง โดยเริ่มจากสถานีมาบตาพุด และช่วงที่ 3 เป็นเส้นทางเชื่อมระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor)และเชื่อมการท่องเที่ยว ซึ่งเริ่มจากสถานีระยองและมีจุดสิ้นสุดโครงการที่ด่านศุลกากร อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ที่สามรถเชื่อมการขนส่งสินค้าไปประเทศกัมพูชาได้
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอของบประมาณปี 2563 ราว 90 ล้านบาท เพื่อเริ่มออกแบบรายละเอียดโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ระนอง ระยะทาง 109 กิโลเมตร หลังจากที่ปัจจุบันได้ทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเสร็จแล้ว โดยคาดว่าหลังจากได้รับจัดสรรงบประมาณนี้ จะใช้เวลาออกแบบรายละเอียด 1 ปี ก่อนเปิดประมูลจัดหาผู้รับเหมา และเริ่มงานก่อสร้างในปี 2564 มีกำหนดก่อสร้าง 3 ปีแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในปี 2567 ซึ่งอยู่ในแผนการเชื่อมเส้นทางขนส่งของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (เอสอีซี)
โดยช่วงชุมพร-ระนอง เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อน เพราะจะช่วยขนส่งทั้งคนและสินค้า เชื่อมต่อ 2 ฝั่งทะเลของไทย จะทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น และที่สำคัญจะเชื่อมต่อไปยังท่าเรือน้ำลึกระนอง โดยก่อนหน้านี้ สนข.ศึกษาความเหมาะสมจะต้องก่อสร้างในปี 2565 แต่ขณะนี้ก็มีความเหมาะสมที่จะเร่งสร้าง
นอกจากนี้ ร.ฟ.ท. ยังมีแผนพัฒนารถไฟเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจอีสต์-เวสต์ คอริดอร์ โดยจะเชื่อมต่อการเดินทางจากแม่สอด (ตาก)-นครสวรรค์-บ้านไผ่ (ขอนแก่น)-นครพนม เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งคนและสินค้าระหว่างภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการในช่วงแม่สอด-นครสวรรค์เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างศึกษาช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลานาน เนื่องจากมีระยะทางค่อนข้างยาว อีกทั้งยังตัดผ่านภูเขาหลายแห่ง ดังนั้นรถไฟสายใหม่นี้ อาจยังไม่เกิดเร็วๆ นี้ แต่จะเป็นโครงการอนาคตที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการขนส่ง
นายวรวุฒิ กล่าวว่า ความคืบหน้ารถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ร.ฟ.ท.ได้ส่งรายละเอียดเพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการ สศช. ซึ่งคาดว่าจะทยอยอนุมัติโครงการ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยอาจไม่ได้เสนอเข้า ครม.ในครั้งเดียว แต่จะเลือกในเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อการขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด “คาดว่า สศช.จะอนุมัติช่วงขอนแก่น-หนองคาย ก่อนเพราะเป็นเส้นเชื่อมต่อโลจิสติกส์ให้สมบูรณ์จากชุมทางจิระ-ขอนแก่นอยู่แล้ว และเส้นทางนี้ยังเชื่อมต่อลงพื้นที่อีอีซีด้วย” นายวรวุฒิกล่าว