ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีคนแก่ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ!!
เป็นการคาดการณ์ที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ เริ่มพูดถึง ‘สังคมสูงวัย’ กันมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากประชากรอายุ65 ปีขึ้นไปของไทยกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว
แม้การตระหนักรู้เรื่องนี้จะเพิ่มขึ้น แต่ดูเหมือนว่าเรายังคงมืดมนต่อทางออกว่าเราจะรับมืออย่างไร ?
ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่า เมื่อเวลานั้นมาถึงตัวเราเองก็อาจเป็นหนึ่งในผู้สูงวัยด้วย ซึ่งข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คาดการณ์ว่า คนไทยมีอายุเฉลี่ยที่ 75.3 ปี และมีความเป็นไปได้ว่าคนไทยที่เกิดในปี 2559 จะมีอายุยืนเฉลี่ยถึง 80-98 ปี หรือเกือบ 100 ปี
เมื่อภาวะที่ต้องดูแลผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นมาก แต่กำลังแรงงานลดลง ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
เมื่อเราพูดถึง ‘สังคมสูงวัย’ จึงไม่ได้หมายถึงเรื่องของ ‘ผู้สูงอายุ’ เพียงเท่านั้น แต่หมายถึงภาพรวมของทั้งสังคมที่จะมีผู้สูงอายุจำนวนมาก เด็กเกิดน้อย และคนวัยทำงานกำลังลดน้อยถอยลงด้วยเช่นกัน
การเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงวัยจึงเกี่ยวพันกับคนทั้งหมด และเป็นเรื่องใหญ่โตกว่าการตอบคำถามเพียงว่าจะดูแลคนแก่กันอย่างไร
หากพิจารณาเฉพาะระดับปัจเจก เราจินตนาการชีวิตสูงวัยของตัวเองออกหรือไม่ หากเราเป็นหนึ่งในผู้มีอายุยืนยาว เรามีลูกหลานหรือไม่ หากมี เขาจะเลี้ยงดูเราไหม เรามีเงินเก็บอยู่เท่าไร เพียงพอสำหรับการอยู่โดยไม่ทำงานกี่ปี หากเจ็บป่วยยามชรา มีภาวะติดเตียงจะอยู่อย่างไร ฯลฯ
คำถามเหล่านี้ไม่ได้สร้างความหนักใจให้เพียงตัวเราเพียงลำพัง แต่มันเป็นคำถามมหาชน เพราะปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะมีสวัสดิการ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ 600-1,000 บาทต่อเดือน แต่ทุกคนรู้ดีว่ามันไม่เพียงพอสำหรับดำรงชีวิตทั้งหมด หากไม่มีจุดพึ่งพิงอื่น
นอกจากนี้เรายังพบว่า ในปัจจุบัน ผู้สูงอายุ ร้อยละ 34.3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน และมีคนไทยวัยทำงานเพียง 15 ล้านคนที่อยู่ในระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันยามเกษียณ
และหากพิจารณามูลค่าการออมก็พบว่า ผู้สูงอายุที่มีเงินออม 100,000-399,000 บาท มีเพียงร้อยละ 31 ของผู้ที่มีเงินออม เงินจำนวนนี้จะต้องใช้ตลอดอายุขัย ซึ่งไม่รู้ว่ายาวนานแค่ไหนเสียด้วย
“เราเคยคำนวณอายุขัยเฉลี่ยที่ 60 กันไหม ถ้าคำตอบตอนนี้คือ 35 แปลว่าคนคนหนึ่งจะอยู่ถึง 95 ปีโดยเฉลี่ย เราไม่มีข้อมูลนี้ได้อย่างไร ทั้งที่จำเป็นต้องคำนวณอย่างยิ่ง...
การมองนโยบายสังคมสูงวัย จึงไม่ใช่การมองเป็นภาพนิ่งแล้วจบ แต่มันต้องมองอย่างมีพลวัตในภาพใหญ่”
เป็นส่วนหนึ่งของ ปาฐกถาพิเศษ “อนาคตประเทศไทยกับสังคมสูงวัย” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และที่ปรึกษากรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย ในงานสมัชชาเฉพาะประเด็นว่าด้วยนโยบายรองรับสังคมสูงวัย ครั้งที่ 1 พ.ศ.2562 เมื่อเร็วๆนี้
เวทีสมัชชาเฉพาะประเด็นดังกล่าวจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับการรวบรวมข้อเสนอและจัดทำนโยบายสาธารณะ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งนี้ การรับมือกับสังคมสูงวัยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ สช. ให้ความสำคัญ โดยมีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลผ่านการพูดคุยกับทุกภาคส่วนทั้งในระดับจังหวัด ภูมิภาค รวมทั้งผ่านกระบวนการลูกขุนพลเมือง
ท่ามกลางประเด็นที่ต้องรับมือมากมายหลายด้าน “การออม” เป็นประเด็นหนึ่งที่มีการหารือและนำเสนอนโยบายที่น่าสนใจ
นอกจากข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานต่างๆ เช่นให้กองทุนการออมแห่งชาติขับเคลื่อนให้มากยิ่งขึ้นแล้ว ยังมีนวัตกรรมที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้และกำลังจะได้รับการผลักดันให้ไปได้ไกลขึ้นอีก นั่นคือ “ธนาคารต้นไม้”
การปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจนั้น หลายชุมชนทำกันมานานมากแล้ว ระยะเวลาที่ยาวนานเปรียบได้กับการค่อยๆ สะสมเงินในธนาคาร และจะได้เงินก้อนนั้นเมื่อตัดไม้หลังการปลูกไป 20 ปี มีการคำนวณว่า ไม้ตะเคียนใหญ่อายุ 20 ปีขึ้นไป ขายได้ราคานับแสนบาท
แต่ปัญหาใหญ่ที่ผ่านมาคือ ปลูกแล้วตัดไม่ได้ เพราะไม้หายากไม้มีค่าเหล่านั้น เช่น พะยูง ประดู่ มะค่า ตะเคียน ฯลฯ ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่เวลาตัดแม้จะปลูกในพื้นที่ตัวเอง สร้างความยุ่งยากในการพิสูจน์และได้รับอนุญาต หลายปีที่ผ่านมาจึงมีความพยายามในการแก้กฎหมายให้ประชาชนสามารถตัดไม้เหล่านี้ได้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตน
กระทั่งปลายปี 2561 จึงมีการแก้ไขกฎหมายป่าไม้เปิดทางเรื่องนี้ได้สำเร็จ รัฐบาลหวังให้การทำธนาคารป่าไม้นี้ขยายผลออกไปกว้างขวางเพื่อตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจประชาชนและเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศ โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศไทย (ธ.ก.ส.) สร้างระบบรองรับเศรษฐกิจรูปแบบใหม่นี้โดยกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการใช้ต้นไม้มาเป็นหลักทรัพย์กู้ยืมเงิน
อย่างไรก็ตาม โจทย์ของเรื่องนี้ก็ยังมีหลายชั้นสำหรับผู้สนใจ เช่น เราจะเลือกปลูกอะไร ราคาไม้จะผันผวนเพียงไหน ต้องปลูกอย่างไร ใช้เวลาเท่าไร พื้นที่เท่าไร ขายอย่างไร ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ความรู้ที่คนจำนวนมากไม่ต้องการใช้เวลานับทศวรรษในการลองผิดลองถูก มติของสมัชชาเฉพาะประเด็นว่าด้วยนโยบายรองรับสังคมสูงวัยจึงมีข้อเสนอถึงมหาวิทยาลัย กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับภาคเอกชนให้พัฒนาองค์ความรู้ ออกแบบระบบการจัดการความรู้และการสืบค้นข้อมูลอัตโนมัติที่เกี่ยวข้องกับการปลูก การดูแล การขาย ข้อมูลราคา ของไม้เหล่านี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการวางแผนลงทุนปลูกไม้ยืนต้นสำหรับประชาชนที่สนใจ
นอกจากนี้ยังขอให้หน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาสังคม ร่วมกันจัดตั้งองค์กรส่งเสริมการปลูกไม้เพื่อการออมเพื่อส่งเสริมอย่างครบวงจรและเป็นระบบ ให้เกษตรกรลงทุนปลูกและดูแลไม้ยืนต้นในพื้นที่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล รวมถึงดูแลรักษาไม้ยืนต้นในพื้นที่สาธารณะ องค์กรนี้จะทำให้ระบบการรับรองไม้ยืนต้นสามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ได้กับสถาบันการเงินต่างๆ รวมถึงการใช้ในการประกันตัว การลงทะเบียนเรียน ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะในการจัดตั้งกองทุนป่าไม้ที่จะทำหน้าที่ระดมทุนจากประชาชน เพื่อเช่าหรือขอใช้พื้นที่สาธารณะของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อนำมาปลูกไม้ยืนต้น แล้วจัดสรรแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐเมื่อถึงเวลาตัด ฯลฯ เรียกว่าเป็นการพยายามขยาย “ธนาคารต้นไม้” ให้ครบวงจร มีระบบการจัดการที่สามารถขยายการดำเนินการได้ในภาพรวมทั้งประเทศ รองรับสังคมสูงวัยที่คนไทยยังคงมีการออมต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้สูงอายุจำนวนมาก นอกจากไม่มีเงินออมยังเป็นหนี้สินอีกด้วย มีงานศึกษาพบว่า เกษตรกรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีหนี้สินโดยเฉลี่ยประมาณ 25,000 บาทต่อครัวเรือน และเมื่อเข้าสู่อายุ 80 ปี เกษตรกรไทยก็ยังมีหนี้สินโดยเฉลี่ย 10,000 บาทต่อครัวเรือน เวทีสมัชชาเฉพาะประเด็นฯ จึงมีมติให้กระทรวงการคลังศึกษาสถานภาพและแนวทางในการลดภาระหนี้ เช่น การลดหย่อนหนี้ของผู้สูงอายุเพื่อลดความยากลำบากในการดำเนินชีวิตสำหรับผู้สูงอายุด้วย
นี่เป็นส่วนหนึ่งของมิติทางเศรษฐกิจที่ต้องเตรียมรับมือก่อนที่คนจำนวนมากจะเคลื่อนเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยและสังคมทั้งสังคมต้องดูแลผู้สูงวัยจำนวนมาก โจทย์หลักคือ ทำอย่างไรให้เกิดการออมในทุกมิติ ทุกทางที่เป็นไปได้ และเหมาะสมกับผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออมผ่านอสังหาริมทรัพย์ ปศุสัตว์ สิ่งของสะสม รวมถึงสร้างมาตรการอื่นๆ ที่จะส่งเสริมให้ผู้สูงวัยทั้งปัจจุบันและอนาคตมีสถานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นส่วนสำคัญในการสร้างชีวิตที่ดีในช่วงโค้งสุดท้ายของชีวิต
.............................